วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สัตตภัณฑ์

โดย........อรัญญา ฟูคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
สัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียนสำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหารของล้านนาทั่วไป เป็นเครื่องประกอบพิธี
ทางศาสนาของล้านนา นิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียง มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บนยอดสุด มีที่สำหรับปักเทียน ๗ เล่ม สันนิษฐานว่าเลข ๗ น่าจะหมายถึงภูเขา ๗ ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุหรือองค์ พระธาตุเจดีย์ เชิงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งแบบล้านนาโดยทั่วไปสร้างขึ้นจากไม้แกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่าง หนาแน่นเต็มพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นลายนาคเกี้ยวหรือพญานาคพันกันหลายตัว ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนล้านนาสมัยโบราณที่มักใช้เครื่องไม้ในการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระศาสนา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน เมื่อไปทำบุญที่วัดจะสังเกตเห็นว่าในวิหารจะมีเครื่องใช้ทางพุทธศิลป์ ตั้งประกอบอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปประธาน อันเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาพุทธ เครื่องสัตตภัณฑ์ที่สวยงามและเป็นของเก่าแก่จริง ๆ ปัจจุบันดูเหมือนจะหาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นของเก่าที่อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาค้นคว้า ความสำคัญของสัตตภัณฑ์ในพิธีกรรมทางสงฆ์ คือ เป็นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระประธานในอุโบสถหรือพระธาตุเจดีย์ เป็นเครื่องสักการะที่สำคัญอย่างหนึ่งในคติทางศาสนาของล้านนา จัดเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย สัตตภัณฑ์ส่วนมากจะทำด้วยไม้ สลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ พันธุ์พฤกษา ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นรูปนาค นอกจากช่างจะแกะสลักไม้แล้วบางครั้งยังมีการลงรักปิดทองประดับกระจกสี ด้านบนมักจะสลักเป็นเชิงเทียนรวม ๗ อัน สัตตภัณฑ์และเชิงเทียนทั้ง ๗ อัน มีผู้ให้ความหมายด้านรูปลักษณ์ว่าอาจจะหมายถึง ภูเขาทั้ง ๗ ที่ตั้งรายล้อมภูเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงสวรรค์ที่ประทับของพระเจ้าและเหล่าบรรดาเทวดาทั้งหลาย ประกอบด้วย
ภูเขาลูกที่ ๑ (นับจากปลายยอดวนซ้าย) ชื่อยุคันทร
ภูเขาลูกที่ ๒ ชื่ออิสินธร
ภูเขาลูกที่ ๓ ชื่อสุทัสนะ
ภูเขาลูกที่ ๔ ชื่อวินันตกะ
ภูเขาลูกที่ ๕ ชื่ออัศกัณนะ
ภูเขาลูกที่ ๖ ชื่อเนมินทร
ภูเขาลูกที่ ๗ ชื่อกรวิก
สัตตภัณฑ์ในวิหารพระเจ้าศิลา
วัดพระธาตุลำปางหลวง
ที่มา : ๑. การสัมภาษณ์ นายเกษม สิทธิ มัคคุเทศก์วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
๒. บทความสัตตภัณฑ์และตุงกระด้าง เลขที่บทความ AT-221 Website Lannacorner.net
๓. ครูแผน เพื่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย ศิลปกรรมสากล และความสัมพันธ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น