ภูมิปัญญา ได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่ทำให้คนไทยคนในท้องถิ่นได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ
วิถีชีวิตตนเอง และสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม องค์ความรู้
ของชาวบ้าน หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดที่เกิดจากสติปัญญา ความสามารถของชาวบ้านที่รู้จักการ
แก้ไขปัญหา หรือการนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน และคติ ความคิด ความเชื่อ เป็นพื้นฐาน
ขององค์ความรู้ที่ได้สั่งสม และสืบทอดกันมาช้านาน
หมอเป่า เป็นกลุ่มหมอพื้นบ้านที่มีบทบาทต่อสังคมของคนในชนบท การเป่า เป็นวิธีการรักษา
ของหมอพื้นบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยโดยใช้เวทมนตร์คาถาเป่าไปตามร่างกายผู้ป่วย บางครั้งอาจจะใช้
สมุนไพรในการรักษาด้วย หมอเป่า จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษ เช่น ปู่ ตา พ่อ หรือจากครู
ที่สืบทอดกันมา หมอเป่าเปรียบเสมือนแพทย์ที่พอจะรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยให้ผู้ป่วยได้ การคิดค่ารักษา
อาจเป็นค่าตอบแทนเล็กน้อยเพื่อเป็นสินน้ำใจ หรือถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินอาจรักษาให้ฟรี และเมื่อผู้ป่วยหายจาก
การเจ็บป่วยก็จะจัดเตรียมของกินของใช้หรือเงินเพื่อนำไปตอบแทนท่านที่ได้รักษาให้จนหายจากการเจ็บป่วย
ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีภูมิปัญญาที่เป็นหมอเป่า หรือหมอพื้นบ้านที่ชาวบ้านไปรักษาชื่อ นางนวล ลาภใหญ่ อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๑๐ หมู่ ๖ ตำบลวังเหนือ เป็นหมอเป่าที่ได้รับการสืบทอดมาจากบิดา ชื่อ นายแก้ว ฐานเสีย ปัจจุบันบิดาถึงแก่กรรมแล้ว และมีบุตรเป็นคนสืบทอดการรักษา
การเป่า ที่มีคนมารักษา เช่น การเป่าตุ่ม เป่ามะเร็งผิวหนัง แผลเรื้อรัง ก้างติดคอ แมลงกัดต่อย วิธีการรักษาด้วยการท่องคาถาแล้วเป่าลงไปตามตุ่มหรือแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยการเป่าติดกันประมาณ ๕ วัน แผลก็จะฝ่อแห้งไปวันละเล็กละน้อยจน ครบ ๕- ๗ วัน ไม่ลุกลามต่อไป และหายขาดในที่สุด
แม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีโรงพยาบาล สถานพยาบาล และมีแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งได้รับความนิยมไปรักษามากกว่าหมอพื้นบ้าน แต่ก็ยังมีชุมชนในชนบทที่ได้ให้ความสำคัญกับหมอพื้นบ้าน และชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาอยู่ ดังนั้น หมอพื้นบ้านจึงยังอยู่ได้อย่างเหนียวแน่นในชุมชน และการรักษาด้วยวิธี
นี้ หากไม่มีผู้สืบทอดไว้ก็จะไม่มีใครรู้จักภูมิปัญญาด้านนี้อีกต่อไป
ผู้ให้ข้อมูล นางนวล ลาภใหญ่ บ้านเลขที่ ๒๑๐ หมู่ ๖ ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
ผู้สัมภาษณ์ นางสุพัชรีย์ เป็งอินตา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำอำเภอวังเหนือ
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น