วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สมุนไพรต้านหวัด

โดย...นายทินกร สุริกัน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
ปลายฝนต้นหนาว อากาศแห้งเต็มไปด้วยฝุ่นละอองและมลภาวะต่าง ๆ ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจได้ง่าย เช่นโรคหวัด เป็นต้น ดังนั้น นอกจากต้องดูแลตัวเองให้อบอุ่นอยู่เสมอแล้ว ทางแก้ที่ถูกต้องอีกทางหนึ่ง คือ ต้องใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการถ่ายทอดมาตั้งแต่โบราณ โดยให้สมุนไพร ที่เรียกว่าเป็นการสร้างภูมิแก่ตนเอง เพื่อเข้าไปช่วยสร้างภูมิในร่างกายให้สมดุล เมื่อร่างกายแข็งแรงการที่จะเจ็บป่วยค่อนข้างยาก เช่นการรับประทานอาหารที่มีสมุนไพรไทยเป็นส่วนผสมก็ช่วยปกป้องตัวเองจากอาการเป็นไข้หวัดได้ ซึ่งในวงการแพทย์แผนไทยก็มีการศึกษาค้นคว้าด้านพืชสมุนไพรไทย ผลไม้ไทย และมีหลายชนิดที่ระบุไว้ว่าการบริโภคในช่วงฤดูหนาวสามารถป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดได้ อาทิเช่น
๑. กระเทียม หากกินกระเทียมทุกๆ วัน นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตสูงแล้วยังสามารถป้องกันหวัดได้ และ การกินกระเทียมสด ให้ผลดีกว่าการกินกระเทียมที่ผ่านการปรุง ฟังอย่างนี้คนที่ไม่ชอบในรสชาติอาจหนักใจ แต่อย่าลืมว่าเราสามารถดัดแปลงได้ นั่นคือเอาไปบดพอหยาบ บีบมะนาวเล็กน้อย เหยาะน้ำปลาหรือซีอิ้วขาว ทำเป็นน้ำจิ้มอาหาร หรือรับประทานกับข้าวผัดร้อน ๆ เป็นต้น
๒. สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่จะลืมไม่ได้ คือ ขิง ซึ่งมีประโยชน์มากมายหลายอย่าง ทั้งการนำมากินเพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารและการบำรุงผิว ในขณะเดียวกันก็แก้หวัดได้ด้วย รากขิงก็สามารถลดอาการหวัดและคัดจมูกได้ดี เพราะมีฤทธิ์ร้อนในการระบายความเย็นภายในให้ออกไป หรือจะนำขิงอ่อนมาต้ม แล้วเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งก่อนดื่มเล็กน้อย (หรือชาขิงที่มีขายทั่วไป) เพื่อทำให้ร่างกายที่หนาวเย็นได้เพิ่มความอบอุ่นก็ได้
๓. หอมแดง นำหอมแดงมาทุบให้แตก ใส่ลงในน้ำเดือด เปิดฝาหม้อบางส่วนให้ไอน้ำระเหยขึ้นมารมบริเวณใบหน้า คอยสูดไอน้ำเข้าไประวังอย่าเปิดฝาหม้อทีเดียว เพราะไอน้ำจะลวกหน้าได้ หรือนำหอมแดงมาตำสุมบริเวณกระหม่อมเด็ก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ รวมทั้งการนำหอมแดงมาทุบให้แตก ใส่จานวางไว้ตรงหัวนอน ก็จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกเวลานอน
๔. เสาวรส หรือที่บางคนเรียกว่า กะทกรกฝรั่ง หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Passion Fruit นั้น เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถว ๆ ทวีปอเมริกา แต่ก็เติบโตได้ดีในประเทศไทย ผลมีลักษณะต่างกันไปตามพันธุ์ มีทั้งรูปกลม รูปไข่ แต่สำหรับเนื้อภายใน ก็มีหน้าตาคล้ายทับทิมนี่เอง รสชาติของเสาวรสนี้ก็ออกเปรี้ยว คนจึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม ทั้งเป็นน้ำเสาวรสคั้นสด หรือเอามาผสมกับน้ำผลไม้อื่นๆ อย่างน้ำส้ม สัปปะรด หรือแอปเปิ้ลก็ได้ และด้วยความเปรี้ยวนี่เองทำให้เสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินซี ใครที่เป็นหวัด เจ็บคออยู่ก็จิบน้ำเสาวรสเข้าไปก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือใครที่ยังไม่เป็นหวัด วิตามินซีในเสาวรสก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้อีกต่างหาก
ที่มา : ๑. เอกสารเรื่องพิเศษ หมอชาวบ้าน สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
๒. horapa.comเอกสารเรื่องพิเศษ หมอชาวบ้าน สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน

ความเชื่อเรื่องการสร้างหลองข้าวของชาวล้านนา

เรียบเรียงโดย.....ป้านา.....
ความเชื่อล้านนาเกี่ยวกับหลองข้าว การปฏิบัติตนต่อเมล็ดข้าวของคนล้านนา เป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านานปัจจุบันประเพณีความเชื่อถือที่เกี่ยวกับข้าวนั้นค่อยๆ หายไป คนปัจจุบันนี้ส่วนมากจะไม่ทราบถึงการปฏิบัติของคนโบราณต่อข้าวกันแล้ว คนโบราณมีประเพณีฮีตฮอยเกี่ยวกับข้าวโดยเฉพาะเมล็ดข้าว เพราะท่านถือว่าข้าวเป็นของสูง เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์มีคุณแก่มนุษย์อย่างยิ่งยวด ดังนั้นต้องปฏิบัติตนต่อข้าวให้เหมาะสม คนโบราณท่านถือว่าเป็นคนต้องรู้จัก “คุณข้าวคุณน้ำ” เมื่อนำข้าวเปลือกไปตำให้เป็นข้าวสารแล้ว ยิ่งเป็นการยกฐานะของข้าวให้สูงขึ้นไปอีก ประเพณีการนับถือข้าวว่าเป็นของสูงจึงได้มีการปฏิบัติต่อข้าวสารอย่างระมัดระวัง เมื่อได้ข้าวสารมาเก็บไว้ในหม้อหรือภาชนะอื่น การเก็บข้าวในหม้อข้าวสารก็ต้องทำให้ถูกด้วย คือจะไม่ทำให้โหว่ตรงกลาง คือตรงกลางลึกลงไป เมื่อเวลาทำให้ตรงกลางสูงข้าวจะไม่เปลือง แต่ถ้าทำให้โหว่ข้าวในหม้อจะหมดเร็ว
หลักความเชื่อที่เกี่ยวกับการสร้างหลองข้าวของคนล้านนา
มูลเหตุที่ต้องสร้างหลองข้าว ในตำนานหลายฉบับรวมทั้งมุขปาฐะ กล่าวถึงมูลเหตุการณ์สร้างหลองข้าวที่ปรากฏในพับสาอักสรธรรมล้านนาของหนานคำคง สุระวงศ์ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกันว่าแต่เดิมขนาดเมล็ดข้าวมีขนาดโตเท่าผลเมล็ดแตงโม ชาวนาทั้งหลายไม่ต้องปลูกข้าวเพียงแต่เตรียมยุ้งฉางหรือหลองข้าวไว้รอ ข้าวนั้นจะลอยมาสู้ยุ้งฉางเอง และคนก็ไม่ต้องมีการตำและฝัดข้าวนั้นเลยเพียงเอาพร้ามาถากเปลือกออกก็นึ่งและหุงรับประทานได้เลยจึงไม่จำเป็นหว่านกล้าและดำนา ตำนานเล่าถึงที่หญิงหม้ายนางหนึ่งจัดเตรียมยุ้งฉางไม่ทัน ข้าวเมล็ดโตเหล่านั้นต่างลอยมาสู่ยุ้ง จนท่วมตัวนาง นางโมโหจึงด่าทอด้วยคำหยาบคายแล้วเอาค้อนทุบตีเมล็ดข้าวจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระจายไปทั่ว นับแต่นั้นมาข้าวจึงเป็นเมล็ดเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน และต้องปลูกข้าวเอง
ทิศที่ควรปลูกสร้างหลองข้าว
ยุ้งข้าวหรือหลองข้าว สร้างขึ้นไว้เป็นที่เก็บเมล็ดข้าวเปลือกเมื่อคนโบราณถือว่าข้าวเป็นของสูง ท่านจึงกำหนดให้ทิศหัวนอน หรือทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของยุ้งข้าว การตั้งยุ้งข้าวจึงตั้งด้านทิศตะวันออกของบ้านเรือนเสมอ ห้ามสร้างไว้ทิศตะวันตก แต่ก็มีบ้างที่ตั้งไว้ทิศเหนือของตัวบ้าน ไม้สำหรับทำเป็นยุ้งข้าวต้อง
เป็นไม้ใหม่จะไม่ใช่ไม้เก่าที่เป็นส่วนล่างของบ้านมาทำ และจะห้ามเอาไม้ยุ้งข้าวมาทำเป็นบ้านแม้แต่แผ่นเดียวก็ไม่ได้ ถือว่าขึด ไม่ดี
ไม้ที่สร้างหลองข้าว คนล้านนามีความเชื่อเรื่องไม้ที่ใช้ปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ดังจะยกตัวอย่างวิธีเลือกไม้มาปลูกสร้างอาคาร โดยเฉพาะเสา ต้องคัดเลือกให้ดีที่สุดจะไม่เอาไม้ที่มีปลายเป็นแผ่นคร้ายหางปลา ไม่เอาไม้ที่มีกิ่งนางขึ้นสองกิ่งเรียกว่าไม้สองนาง จะไม่เอาไม้ที่มีน้ำย้อยออกที่ตาไม้ จะไม่เอาไม้ที่ถูกฟ้าผ่า ไม้ขึ้นบนจอมปลวกก็ไม่ใช้ ไม้กลวงในก็ไม่เอา เป็นต้น

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภูมิปัญญา ความเชื่อเกี่ยวกับคน และกิริยาอาการ

โดย สุนันทา เจียมเงิน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
การกวาด
การใช้ไม้กวาด กวาดบ้านเรือน ภายในอาคารสถานที่พักอาศัย เพื่อทำความสะอาด กวาดขยะ ฝุ่นผง
การกวดเรือน(บ้าน) ของคนเมืองเหนือ จะกวาดกันในตอนเช้า หรือกลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนจะไม่กวาดเรือนกันถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องกวาดเรือนในเวลาค่ำคืน เขาจะใช้วิธีกวาดขยะจากข้างนอกเข้าไปกองไว้ข้างในที่มุมใดมุมหนึ่งของเรือน พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงทำการเก็บหรือกวาดขยะนั้นออกทิ้ง
ความเชื่อ
๑. การกวาดเรือนในตอนกลางคืน เป็นการกวาดเอาข้าวของ เงินทอง ออกจากเรือนไป ซึ่งถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วคงเป็นเพราะว่าในเวลากลางคืนมีแสงสว่างไม่เพียงพอ อาจมองไม่เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่าติดออกไป หรือของที่มีขนาดเล็ก อาทิ เข็มเย็บผ้า ดังนั้นถ้ากวาดเรือนไปอาจทำให้ข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้นสูญหายได้
๒. เมื่อมีคนที่เจ้าของเรือนไม่ชอบเข้ามาในบ้านเรือน มานั่งพูดคุยกัน ถ้าเจ้าของเรือนนั้นไม่อยากให้คนผู้นั้นกลับเข้ามาอีก เมื่อเข้ากลับไปแล้วให้รีบเอาไม้กวาด ๆ ไล่ พร้อมกล่าวเบา ๆ ว่า “ไป ไป”
เชื่อว่าคนผู้นั้นจะไม่กลับมาอีก
************

ผู้ให้ข้อมูล นายอินสม เครือตัน ข้าราชการบำนาญ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลน้ำโจ้
บ้านเลขที่ ๑๓๑ หมู่ ๕ ตำบล น้ำโจ้
อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ๕๒๑๕๐

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การสืบค้น เรื่องพืชผักพื้นบ้าน "ผักหนามปู่ย่า"

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (Scientitific Name) Leguminosae
ชื่อวงศ์ : Caesaipinia Mimosoides
ลักษณะทั่วไป
ผักปู่ย่า เป็นพืชประเภทไม้ถาชนิดหนึ่ง พบทั่วไปในป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ ใบและลำต้นคล้ายผักชะอม เมื่อแก่จัดหลังจากให้ดอกและเมล็ดแล้ว ลำต้นจะค่อย ๆ แห้งตาย
และจะงอกใหม่เมื่อถึงฤดูฝนอีกครั้งหนึ่ง ดอกของผักหนามปู่ย่ามีสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อ ยอดอ่อน
และก้านจะมีสีแดง หรือน้ำตาลเข้ม มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน เหมือนหนามดอกกุกลาบ

การนำมารับประทาน
จะหาเก็บได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบ หรือหาซื้อตามตลาดชนบทภาคเหนือทั่วไป ที่อำเภอแม่ทะมีที่บ้านหนามปู่ย่า หมู่ที่ ๘ ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ มีขายรวมกับผักชนิดอื่น เช่น ยอดมะม่วง ยอดชะมวง ซึ่งเราเรียกลักษณะของผักที่มัดรวมกันนี้ว่า ผักแพะ เนื่องจากคำว่าแพะในภาษาท้องถิ่น ภาคเหนือ หมายถึง ป่าละเมาะ หรือป่าโปร่ง
นิยมนำมารับประทานสดได้เลยไม่ต้องลวก หรือทำให้สุก มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน
รสฝาดอมเปรี้ยว นำยอดอ่อนมาเป็นผักจิ้ม กับแกงหน่อไม้สด แกงหน่อไม้ดอง ยำหน่อไม้ ไม่ต้องเด็ดหนามออก หรือ เด็ดเป็นท่อนเล็ก ๆ ยำหรือส้า รวมกับผักแพะชนิดอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่ายำผักแพะ นอกจากยอดอ่อนแล้ว ส่วนดอกที่มีสีเหลืองก็นิยมนำมาส้าหรือยำก็ได้เช่นกัน

ประโยชน์
มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นผักที่มีวิตตามินซีสูง

การขยายพันธ์ ๑. ใช้รากหรือหัว ๒. ใช้เมล็ด

ผู้ให้ข้อมูล คุณประวีณา มังคะวงค์
๑๗๘/๒ หมู่ที่ ๘ บ้านหนามปู่ย่า
ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
-----------------

ประเพณีสืบชะตา

โดย นางสาวจิราพร มณฑาทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
การสืบชะตา คือการต่ออายุให้ยืนยาวต่อไป พิธีกรรมจะมีพระสงฆ์มาประกอบพิธี อาจจะเป็นการสืบชะตาคน สืบชะตาบ้าน สืบชะตาเมือง สืบชะตาแม่น้ำ หรือสืบชะตาป่า (การบวชป่า) แต่ในที่นี้
จะขอพูดถึงประเพณีสืบชะตาแม่น้ำ (หรือการยอคุณแม่น้ำ)
การสืบชะตาแม่น้ำ เป็นการประยุกต์มาจากพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในหมู่บ้านทำให้เกิดความเลื่อมใส เคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาแม่น้ำ เกิดความรัก ความหวงแหนและสำนึกในการดูแลรักษาแม่น้ำ ตลอดจนต้นน้ำลำธาร ซึ่งก่อนที่จะทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมในกัน ขุดลอกลำคลองและแหล่งน้ำ โดยใช้เครื่องไม้ เครื่องมือพื้นบ้าน ในวันทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษาแม่น้ำ
หรือชาวบ้านต้องการที่จะต่ออายุของแม่น้ำให้ยืนยาวออกไป เนื่องจากชาวบ้านมีวิถีชีวิต ผูกพันกับแม่น้ำ ในยามที่เห็นว่าแม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น แม่น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ
เครื่องสืบชะตาประกอบด้วย
- กระโจมไม้สามขา
- ท่อนแสก เรียกว่าสะพานเงิน สะพานทอง อีกท่อนหนึ่งจะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก ๆ จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข ๙
- เครื่องประกอบอื่น ๆ ได้แก่ กระบอกน้ำ หน่อกล้วย อ้อย ลูกมะพร้าว หม้อเงิน หม้อทอง เทียนถุง เมี้ยง บุหรี่ หมอกพูล ข้าวตอกดอกไม้รวมกันในด้ง
- บทสวดที่ใช้ในการสืบชะตาแม่น้ำ คือ บทสืบชะตาหลวง (อินทชาตา,ชินบัญชร อัฎฐอณหัสสและธรรมสาลาวิจารสูตร)
ดังนั้น เพื่อให้แม่น้ำซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิตของสรรพสิ่งในโลกไม่ว่าจะเป็น คน
สัตว์ หรือแม้กระทั่งต้นไม้ ให้เพียงพอกับความต้องการ เราจำเป็นต้องปกป้องรักษาแม่น้ำให้สะอาด เพื่อ
ประโยชน์ชุมชน หมู่บ้าน เป็นการสืบสานต่อไปเพื่ออนาคตของลูกหลานและมวลมนุษย์ชาติ

ตำรายา ภูมิปัญญาชาวบ้าน



โดย นางอาริยา ยิ้มแก้ว
อาการปวดหัวมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพูดถึงในวันนี้คือ “ปวดหัวไมเกรน” ที่เกิดจากสาเหตุเพราะเครียด
คิดมาก หรือขาดการออกกำลังกาย ซึ่งอาการดังกล่าวถ้าเป็นแล้วจะทรมานมาก ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิดง่าย
โมโหไปหมด บางครั้งปวดจนทนไม่ไหว ต้องกินยาครายเครียด หรือยาแก้ปวดหัวที่แพทย์จ่ายให้ จึงจะทุเลาและ
หายได้ ซึ่งอาการปวดหัวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าปล่อยให้เป็นนานๆ ไม่ดีแน่ ในตำรายาภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ มีอยู่ ๓ อย่างคือ ใบมะยม ดอกอัญชัญ ใบเตย
ใบมะยม สรรพคุณ เป็นส่วนประกอบยาเขียว กินดับพิษร้อน
ปวดหัว ถอนพิษไข้ บำรุงโลหิต
ดอกอัญชัญ สรรพคุณ มีสารแอนโธไซยานินอยู่มาก มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
เช่น ช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็น
เนื่องจากสารตัวนี้จะไปเพิ่มการไหลเวียน
ในหลอดเลือดเล็กๆเช่นหลอดเลือดส่วนปลาย
ทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น
เพราะมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงมากขึ้น

ใบเตย สรรพคุณ มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่น ใบช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น วิธีการใช้ นำใบมะยมที่เป็นใบแก่รวมก้าน ๙-๑๐ ก้าน ดอกอัญชัญ ๑๐ ดอก ใบเตย ๓-๕ ใบ
นำมาล้าง แล้วต้มน้ำสะอาดตามต้องการ ต้มจนเดือด ดื่มต่างน้ำครั้งละ ๑ แก้ว เช้า-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้และก่อนนอน ทำดื่มเรื่อยๆ จะช่วยให้อาการปวดหัวไมเกรนทุเลาลง

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สมุนไพรไทย “ใบหนาด”ไล่ผี จริงหรือ???

โดย มันทนา กันสิทธิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
ถ้าท่านได้ชมละครเรื่อง “แม่นาคพระโขนง” หรือเรื่องการปราบผี ของหมอผีมือฉมัง จะพบว่า วัสดุที่ใช้ในการปราบผีนั้น มี ใบหนาด เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถไล่ผีได้ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ใบหนาดเป็นอย่างไร ไล่ผีได้จริงหรือไม่ ??? ต้นหนาดเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว ใหญ่ มีขน มีกลิ่นฉุน แต่มีสรรพคุณยอดนิยมในการใช้เป็นยารักษาสารพัดโรค ได้แก่ ๑. เป็นยาแช่ ยาอาบให้แม่ ลูกหลังคลอด รวมทั้งให้แม่ลูกอ่อนดื่มกินด้วย ชาวบ้านทั่วไปที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงหลังคลอดลูกใหม่ๆ เลือดจะเสีย การกินน้ำใบหนาดต้มจะช่วยบำรุงเลือด ช่วยขับน้ำคาวปลาให้กับแม่ ซึ่งหนาดเป็นยาร้อนจึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทั้งยังมีฤทธิ์แก้อักเสบจึงเหมาะกับแม่หลังคลอด ๒. ลดการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งจะใช้ทั้งวิธีต้มเอาน้ำ แช่ อาบ ทำยาอบหรือต้มเอาไอรม และทำเป็นยาประคบ หรือเอามาอังไฟจะช่วยแก้ปวดหลังปวดเอว แก้อักเสบ แก้ฟก บวม บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ๓. มีน้ำมันหอมระเหยจึงช่วยกระตุ้นระบบประสาทและระบบการหายใจ ๔. นำมามวนสูบแก้หอบหืด แก้หลอดลมอักเสบ หรือมวนสูบกับยาฉุน รักษาริดสีดวงจมูก หรือบดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสน และการบูร มวนด้วยใบตองแห้ง ๕. นำมาดองกับเหล้า เพื่อเก็บไว้ใช้นานๆ สำหรับทาถูแก้ปวด เช่น ปวดข้อรูมาติกส์และแก้คัน แก้ลมพิษ ๖. เป็นเครื่องหอมที่สาวภูไทยใช้เป็นส่วนผสมในยาสระผม โดยสาวภูไทยผมยาวสลวยจะใช้ใบหนาด ใบมะนาว ว่านสาวหลง ต้มกับน้ำข้าวหม่า แล้วใช้เป็นยาสระผม ทำให้ผมหอมกรุ่น ซึ่งถ้าจะมองในแง่จิตวิทยาของคนบ่าก่อน (คนโบราณ) ท่านต้องการให้คนปลูกใบหนาดไว้ที่หน้าบ้าน เพราะประโยชน์ของใบหนาดมีมากมาย แต่ใบหนาดจะมีกลิ่นฉุน ๆ ใครที่กำลังเมา หรือหูตาฝ้าฟาง เห็นอะไรไหวๆ นึกว่าเป็นผี กระสือ กระสัง หรือนางไม้ พอได้กลิ่นหอมฉุนของใบหนาด จึงได้สติเห็นอะไร ๆ แจ่มแจ้งขึ้นก็เลยไม่ต้องเห็นผี และถ้าปลูกไว้หน้าบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคได้ง่าย ดังนั้น ประโยชน์อันมากมายของใบหนาด ก็สมควรที่จะปลูกไว้ในบริเวณบ้านของท่านนะคะ.......
(ที่มา : คำบอกเล่าของ แม่อุ้ยแสน เมืองใจ บ้านป่าซางน้อย ลำพูน)

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย

ด้วยชมรมดนตรีไทยอำเภอแม่เมาะ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่เมาะ ได้สืบทอดประเพณีไทยโบราณ คือ พิธีไหว้ครู โดยจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อให้ครู นักเรียน ในจังหวัดลำปาง ได้เข้าร่วมกันพิธีไหว้ครูดนตรีไทย เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อพระคุณของ ครูบาอาจารย์ ทำให้ผู้เรียนเกิดศรัทธา และมีสมาธิ เกิดผลความสำเร็จในการศึกษาวิชานั้นได้อย่างรวดเร็ว
พิธีเกี่ยวกับการเรียนดนตรีไทย แบ่งออกได้ ๒ พิธี คือ
๑.พิธีไหว้ครูดนตรี
พิธีไหว้ครูนั้นจัดได้เป็น ๒ ระดับ คือ
๑.๑ การไหว้ครูเบื้องต้น เป็นการไหว้ครูเมื่อแรกเริ่มจะฝึกหัดดนตรี โดยจะต้องเตรียมเครื่องสักการบูชา (ดอกไม้ ธูปเทียน) นำไปเคารพครูในวันพฤหัสบดี หรือวันอาทิตย์ ครูจะรับดอกไม้ธูปเทียนไว้ และจุดธูปเทียนบูชาครูอีกต่อหนึ่ง
๑.๒ พิธีไหว้ครู พิธีไหว้ครูนั้นเป็นพิธีที่จัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะใหญ่โตมาก มีการจัดเตรียมการอย่างพิถีพิถัน โดยร่วมจัดงานเป็นหมู่คณะหรือสถาบัน ต้องเชิญครูที่ได้รับการประสิทธิ มาทำพิธีอ่านโองการบูชาครู
พิธีไหว้ครูนั้น โบราณนิยมจัดในวันพฤหัสบดี โดยเริ่มพิธีสงฆ์สวดมนต์เย็นล่วงหน้าก่อนหนึ่งวัน ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้อนุญาตให้จัดในวันอาทิตย์ได้ เนื่องจากเป็นวันที่มีความสัมพันธ์กับวันพฤหัสบดี
ครูผู้อ่านโองการจะเริ่มอัญเชิญเทพยดา ตามโองการที่ได้รับมาประกอบกับการเรียกเพลงหน้าพาทย์ตามที่ผู้อ่านโองการเรียกขึ้นมา
หลังจากอัญเชิญเทพยดาต่างๆ แล้วครูผู้อ่านโองการก็จะกล่าวถวายเครื่องสังเวย ทิ้งระยะเวลาพอประมาณจึงจะกล่าวลาเครื่องสังเวย จากนั้นครูผู้อ่านโองการก็จะประพรมน้ำมนต์ เจิมเครื่องดนตรีหน้าโขน และประพรมน้ำมนต์ เจิมหน้าให้แก่ลูกศิษย์และผู้เข้าร่วมพิธีเสร็จจากพิธีไหว้ครูแล้วจึงจะทำพิธีครอบต่อไป
๒. พิธีครอบ
พิธีครอบ หมายถึง การประสิทธิ์ประสาทวิทยาการหรือเป็นการอนุมัติให้ผู้หนึ่งผู้ใด มีสิทธิ์เข้าเรียนวิชาการในระดับนั้นได้ การครอบมี ๓ ประเภท
๒.๑ การครอบให้แก่ศิษย์ผู้ต้องการจะเรียนเพลงหน้าพาทย์ ซึ่ง มี ๕ระดับ
๒.๑.๑ ครอบเพลงสาธุการ
๒.๑.๒ ครอบเพลงตระโหมโรง
๒.๑.๓ ครอบเพลงกระบองกัน
๒.๑.๔ ครอบเพลงบาทสกุณี
๒.๑.๕ ครอบเพลงองค์พระพิราพ
๒.๒ การครอบเพื่อรับมอบเป็นครู
ผู้ที่จะครอบเพื่อรับมอบความเป็นครูนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการสอนการดนตรีพอสมควร อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมพร้อมเป็นที่เคารพแก่ศิษย์ต่อไป
ศิษย์ผู้ครอบจะต้องนำขันกำนลมามอบให้ครู ครูจะรับขันกำนลแล้วจะสั่งสอนและประสิทธิ์ประสาทความเป็นครูให้แก่ศิษย์ เป็นอันเสร็จพิธี
๒.๓ การครอบเพื่อรับมอบโองการไหว้ครู
การครอบลักษณะนี้ ครูจะพิจารณาอย่างมากในการคัดเลือกศิษย์ให้เป็นผู้อ่านโองการ เพื่อทำพิธีไหว้ครูสืบต่อแทน ศิษย์จะต้องเป็นผู้อาวุโสและจะต้องมีความรู้ความสามารถ ได้เรียนเพลงหน้าพาทย์จนสามารถเรียกให้ทำเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงได้
วิธีการขั้นตอนของการครอบ ก็คล้ายกับการครอบในประเภทต่างๆ แต่การครอบแบบนี้ ครูจะมอบโองการ ซึ่งเป็นสมุดบันทึกคำอัญเชิญเทพยดาไหว้ครูต่างๆ ให้แก่ศิษย์ พร้อมทั้งกล่าวคำประสิทธิ์ประสาทให้แก่ศิษย์
สมุดโองการไหว้ครูนี้ ศิษย์จะต้องเก็บเอาไว้บูชาในที่สมควรเมื่อศิษย์ได้รับการครอบแล้วก็สามารถที่จะประกอบพิธีไหว้ครูได้ แต่โดยมารยาทแล้ว ในขณะที่ครูมีชีวิตอยู่ ถ้าหากศิษย์จะเป็นผู้อ่านโองการในพิธีไหว้ครู ควรที่จะขออนุญาตครูผู้ถ่ายทอดก่อน

ประโยชน์ของพิธีไหว้ครูและพิธีครอบ
๑. เป็นการรักษาประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีของไทยไว้
๒. เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของศิษย์ที่มีต่อครู
๓. เป็นการสร้างศรัทธาและสมาธิในการเรียนดนตรี
๔. ส่งเสริมความสามัคคีของเหล่านักดนตรี
๕. เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม

อ้างอิง แผ่นพับ พิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๑ . การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่เมาะ

ISSN นั้นสำคัญไฉน

โดย นางวนิดาพร ธิวงศ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
วารสาร,นิตยสาร คือเพื่อนที่ดียามคุณเหงา ให้ทั้งความรู้ สาระ บันเทิงที่คุณชื่นชอบ แต่คุณเคยสังเกตหรือสงสัยบ้างไหมว่า ตรงมุมล่างด้านขวาของปกวารสารที่คุณอ่าน มีช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ข้างในบรรจุบาร์โคด์และมีตัวเลขกำกับอยู่บนนั้น มันคืออะไรกันแน่ สำคัญแค่ไหน มีประโยชน์อย่างไร ทำไมวารสารทุกเล่มจึงต้องมีตัวเลขนั้น
ISSN เป็นคำย่อของ Internation Standard Serial Number หมายถึงเลขมาตรฐานสากล สำหรับสื่อต่าง ๆ ที่มีกำหนดการออกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงซื่อของหัวเรื่องเป็นสำคัญ ถ้าสื่อนั้นต่างภาษากันแม้เป็นเรื่องเดียวกันก็มี ISSN ต่างกัน ISSN จึงใช้เป็นตัวเลขมาตรฐานสากลแยกแยะหัวเรื่องสื่อต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นรายคาบอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีกำหนดการยุติ
ปัจจุบัน ISSN มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีสมาชิก ISSN Center อยู่กว่า 70 ประเทศ และเนื่องจากการให้ ISSN เป็นตัวเลขที่ให้ลำดับของสื่อ (ทั้งสิ่งพิมพ์และไม่ใช่สิ่งพิมพ์) ของทั้งโลก จึงต้องมีเครือข่ายประสานกันเพื่อไม่ให้หน่วยงานให้เลขทะเบียนISSN ซ้ำกัน จึงมี ISSN Network เกิดขึ้น มีฐานข้อมูล ISSN เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบได้
ประเทศไทย มีหน่วยงานดูแล ISSN คือ หอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งนอกจากทำหน้าที่เป็น ISSN Centerในไทยแล้ว ยังเป็น ISSN CENTER ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ISDS-Sea Regional Center) มีหน้าที่ควบคุมและให้หมายเลข ISSN แก่อนุกรมสื่อต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิบปินส์ สิงค์โปร์และไทย
ประโยชน์ของการใช้รหัส ISSN มีมากมาย อาทิ สำนักพิมพ์ สามารถกำหนด ISSNสำหรับ
แต่ละชื่อของวารสาร นิตยสารไม่ให้ซ้ำซ้อนกับสำนักพิมพ์อื่น เพราใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ห้องสมุด ซึ่งใช้ ISSN เป็นหลักในการตรวจสอบเช็คหนังสือ สั่งซื้อ บริหารจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันการศึกษา
สามารถทำการค้นหาในหัวข้องานวิจัยได้แม่นยำ ด้วยการใช้ ISSN แยกแยะไม่ให้ซ้ำหัวเรื่องกัน ผู้จัดจำหน่ายและ ร้านค้าปลีก ใช้ ISSN ประกอบกับบาร์โค้ดและระบบคอมพิวเตอร์ใช้งานภายใน สามารถค้นหาหนังสือ ตรวจสอบยอดขาย รับสินค้า คืนสินค้าได้รวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ สร้างระบบสารสนเทศที่ทันสมัยใน Supply Chain ได้ประโยชน์ในวงกว้างทั้งระบบ
ISSN ประกอบด้วยตัวเลข 8 หลัก และจะต้องมีตัวอักษร ISSN นำหน้าทุกครั้งเมื่อมีการตีพิมพ์ เพื่อให้รู้ว่ารหัสเหล่านี้เป็นเลขในระบบ แบ่งเป็น 7 หลักแรกเป็นเลข ISSN แท้ ๆ ส่วนหลักที่ 8 เป็น
ตัวเลขตรวจสอบ ดังตัวอย่าง “ ISSN 0125 – 1015 ”
สำหรับผู้อ่านวารสารอย่างเรา เมื่อทราบว่าวารสารที่อ่านเป็นประจำนั้น มีตัวเลขมาตรฐานที่มีฐานข้อมูล ISSN Network เชื่อมโยงกับนานาประเทศทั่วโลกนั้น เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและต้องยอมรับถึงอำนาจเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมวิถีชีวิต ทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกันได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส จริง ๆ ตัวสบายใจสนุก.............

จุลกฐิน

กฐิน หมายถึง ไม้สะดึง คือ กรอบไม้ชนิดหนึ่งใช้สำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บในสมัยโบราณไม่มีจักรเย็บผ้าทันสมัยเหมือนปัจจุบัน การเย็บผ้าต้องใช้ไม่สะดึงมาขึงให้ตึงแล้วจึงเย็บไม่เหมือนการใช้จักรเย็บผ้าในสมัยนี้ ดังนั้นการทำจีวรในสมัยโบราณจะต้องทำเป็นผ้ากฐิน
อานิสงส์หรือประโยชน์สำหรับผู้ทอดกฐิน การทอดกฐินเป็นการทำบุญวัดหนึ่งสามารถทอดกฐินได้ปีละครั้ง ภายในกำหนดเวลาและผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดเป็นงานใหญ่มีผู้ช่วยเหลือหลายคนจึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติที่ตัวผู้ทำเอง และได้บริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรให้มาร่วมกุสลด้วยเป็นบุญภวายผ้าไตรจึวรแด่พระสงฆ์ซึ่งจำพรรษาแล้ว เริ่มตั้งแต่
แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญ ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นเขตทอดกฐินตามหลักพระวินัย
ความหมาย “จุลกฐิน” หมายถึง กฐินที่ทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอ เย็บ ย้อม และถวาย อาจเรียกว่า กฐินแล่นก็ได้หากมีการทำจุลกฐินจะมีอานิสงส์มากเพราะจะต้องอาศัยความเคร่งครัด
ทุกฝ่ายต้องกันทำให้เสร็จภายในกำหนดวันหนึ่งโดยมีวิธีการคือ ต้องเก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอให้เสร็จเป็นผืน และตัด เย็บ ย้อมจนทำเป็นจีวรในวันเดียว แล้วนำไปทอดในวันเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงเรียนว่า “จุลกฐิน”
ขั้นตอนหรือกระบวนการของจุลกฐิน สำหรับจุลกฐิน ถือว่าเป็นกฐินชนิดหนึ่ง อาศัยความร่วมมือของคนหมู่มากเร่งรีบทำให้เสร็จ เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกบินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมีมีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั่นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง ทับ รีด เสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุ
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ทอดกฐินอาจไม่มีกำลังมากพอ อาจจะตัดกระบวนการในตอนต้น ๆออกก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอหที่จะตัดเป็นจีวรผ้านผืนใดผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้วก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก รีด ออกแบบตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุ อธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบส่วนบริวารของจุลกฐิน เช่น ผ้าห่มพระประธาน และเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธงจระเข้ ตะบาล ก็อาจจะมีประกอบเช่นเดียวกับกฐินธรรมดาหรือมหากฐินก็ได้.
----------------------------------------------

นางสุภาภรณ์ เรือนหล้า
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติราชการประจำสำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเถิน

การรับมือกับความเครียด

โดย นางลัดดา คิดอ่าน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ความเครียดมีผลอะไรต่อชีวิตของเรา
ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เป็นผลที่เกิดจากความรู้สึกหลาย ๆ อย่างที่มารวมตัวกัน ซึ่งมีผลต่อชีวิตทั้งในทางลบหรือทางบวกก็ได้
การมีชีวิต คือการอยู่ภายใต้ความเครียด
การหาสาเหตุที่สำคัญของการเกิดความเครียด และทำการบันทึกตัวการที่ทำให้เกิดความเครียดในชีวิต ความเข้าใจถึงสาเหตุของความเครียด เหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นตัวก่อความเครียดที่สำคัญให้แก่เรา มีความเครียดที่ส่งให้เกิดผลดีและความเครียดที่ส่งผลเสียต่อร่างกายของเรา
ความเครียดที่ดี
เกิดจากการท้าทายและสร้างความกระตือรือร้น รู้สึกตื่นเต้น เพิ่มพูนสมรรพภาพแก่ชีวิต ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มักเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้น ๆ
ความเครียดที่ไม่ดี
การปล่อยให้มีความเครียดชนิดนี้เป็นเวลานาน เป็นสิ่งที่ไม่ดีและมีผลร้าย เมื่อความตึงเครียดชนิดนี้สะสมมากขึ้น ร่างกายจะหมดเรี่ยวแรงและอาการซึมเศร้าก็จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุของอาการเช่นนี้ เราจะสามารถลดหรือกำจัดปัญหาเหล่านั้นได้
แนวทางแก้ไขความเครียด 12 วิธี
1. ฉลาดกิน เลือกอาหารที่มีโภชนาการอย่างครบถ้วนและพอเหมาะ
2. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอและเพียงพอ
3. นอนหลับอย่างเป็นสุขและเต็มอิ่ม
4. ควบคุมชีวิตตนเอง ที่อาจก่อปัญหาแก่เราให้มากที่สุด
5. คาดการณ์สิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า เตรียมใจรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
6. หัวเราะให้เต็มที่ มีอารมณ์ขันทุกวัน
7. พูดจาให้เข้าใจ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
8. รู้จักผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ
9. มีเวลาทำกิจกรรมหย่อนใจทำให้ชีวิตมีสีสัน
10. ยิ้มแย้ม แจ่มใส ร่าเริง อยู่เสมอ
11. พัฒนามิตรภาพกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง
12. อย่ากลัวเมื่อต้องร้องไห้ น้ำตาช่วยปลดปล่อยอารมณ์

ภูมิปัญญา “งานจักสาน”

สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ผู้คนสามารถผลิตปัจจัยในการดำรงชีวิตได้
เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ “งานจักสาน” หรือเครื่องจักสานเป็นงาน
หัตถกรรม และศิลปหัตถกรรมที่คนในท้องถิ่น สร้างขึ้นเพื่อความศรัทธา และใช้ประโยชน์เป็นเครื่องยังชีพ
หรือการนำมาใช้สอย และเพื่อความสวยงาม โดยชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นคิด และประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นของใช้
เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นนั้น ประโยชน์ที่ได้จากงานจักสาน เพื่อใช้สอยแล้วยังสะท้อนวัฒนธรรม
ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาของชาวบ้านได้ดีอีกด้วย
การทอเมี่ยง (สานซ้าใส่เมี่ยง หรือตะกร้าใส่เมี่ยง) เป็นงานจักสานของ อำเภอเมืองปาน
จังหวัดลำปาง เป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
วิธีทำ นำไม้ไผ่บงมาจักเป็นเส้นให้ได้ขนาดเท่ากัน การทำตะกร้าให้ทำฐานตะกร้าก่อนโดยใช้ไม้ไผ่ที่จักเป็นเส้นแล้วความยาวประมาณ ๑.๗๐ เมตร ใช้ไม้ไผ่ที่จักแล้วสานขึ้นเป็นรูปตะกร้าไม้มี
ความยาวประมาณ ๓ เมตร การสานให้สานก้นตะกร้าเป็นรูปวงกลมขึ้นมาก่อน การสานโดยสานไขว้กันไปมาตรงก้นให้สานหนาทึบ นำไม้ไผ่ที่จักเป็นเส้น ๒ เส้น มาวางคู่กันที่ฐานก้นตะกร้าและให้อยู่ในแนวตั้งนำ
ไม้ไผ่เส้นยาวสานทับไว้เพื่อยึดเส้นไม้ไผ่ทำจนทั่วตะกร้าสานทึบจนเต็มให้มีระยะห่างพอดี เป็นการสานชั้นแรก และการสานในชั้นที่สองนำไม้ไผ่เส้นยาวมาสานทับรอบเส้นไม้ไผ่ที่ทำไว้ในชั้นแรกกะระยะห่างพอดี
โดยสานทึบจนเต็มเหมือนกันจนรอบตัวตะกร้า และในชั้นบนที่เป็นขอบปากของตะกร้าต้องสานขอบใหญ่
กว่าเดิมเพื่อที่จะเก็บเส้นไม้ไผ่ทั้งหมดที่ใช้สานตะกร้าขึ้นมาโดยการสานให้หนาและทึบเป็นขอบปากตะกร้า
เพื่อให้ตะกร้าแข็งแรงเมื่อใช้บรรจุเมี่ยง ตะกร้าใส่เมี่ยง ๑ ใบ จะบรรจุเมี่ยงได้ จำนวน ๑๐๐ กำ ราคาใบละ
๘ บาท
งานจักสาน มีความหลากหลายต่างกันไป เช่น รูปแบบ หรือรูปทรง และลวดลายที่ต่าง
กัน บางชนิด การนำเอาไปใช้เพื่อทำประโยชน์ หรือใช้สอยอย่างเดียวกัน อาจมีความแตกต่างเกิดขึ้นได้
เพราะมีเหตุ และปัจจัยของแหล่งผลิต หรือต่างพื้นที่ และผู้ผลิต หรือทำต่างสถานที่กัน ทำให้งานจักสาน
ในท้องถิ่นต่าง ๆจะมีเอกลักษณ์ของเฉพาะถิ่นนั้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สั่งสม และสืบทอดมา
จากอดีตถึงปัจจุบันที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนในรุ่นต่อไป

ผู้ให้ข้อมูล การทอเมี่ยง (สานซ้าใส่เมี่ยง หรือตะกร้าใส่เมี่ยง)
นายทองสุก ต้อนรับ อายุ ๗๙ ปี
นางบัวตอง ต้อนรับ อายุ ๗๘ ปี
บ้านเลขที่ ๑๓๗ หมู่ ๒ บ้านดอนแก้ว ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
ผู้สัมภาษณ์ นางน้ำทิพย์ มณฑาทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานที่อำเภอเมืองปาน
จังหวัดลำปาง

เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โดย นางจิราภรณ์ กาญจนา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ในที่นี้ คือน้ำมะกรูด มะกรูดเป็นสมุนไพรที่อยู่ในบ้านของทุกคนและหาได้ง่ายในบ้านของเราซึ่งมะกรูดสามารถรับประทานได้ทั้งใบและผล จึงอยากนำมะกรูดมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร สารที่สำคัญที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของอวัยวะสำคัญในการขจัดสารพิษมากมาย ซึ่งสารที่ว่านี้ได้มาจากมะกรูด
เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยนำมะกรูดมาแปรรูปทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังเป็นการนำสิ่งที่หาได้ง่ายภายในบ้านมาใช้ให้เป็นประโยชน์
เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์
เครื่องปั่นน้ำผลไม้ แก้ว หลอด ช้อนชา มะกรูด เกลือกป่น น้ำเชื่อม น้ำแข็งปั่น น้ำ
วิธีทำเครื่องดื่มสมุนไพร
1.มะกรูด 4 – 5 ลูก มาปลอกผิวออก เพื่อไม่ให้มีรสขม
2.คั้นมะกรูด เอาแต่น้ำมะกรูด
3.นำส่วนผสม คือ น้ำมะกรูด เกลือป่น น้ำเชื่อม น้ำแข็งปั่น ใส่ลงในเครื่องปั่นน้ำผลไม้
ทำการปั่นส่วนผสมเข้าด้วยกัน ชิมดูตามใจชอบ
4.เทใส่แก้วที่เตรียมไว้ พร้อมเสิร์ฟ
สรรพคุณทางยา
1. ผิวผลสดและผลแห้ง รสปร่า หอมร้อน สรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้วิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมลำไส้ ขับระดู
2. ผล รสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต
ใช้สระผมทำให้ผมดกดำ ขจัดรังแค
3. ราก รสเย็นจืด แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด
4. น้ำมะกรูด รสเปรี้ยว กัดเสมหะ ใช้ดองยามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี
5. ใบ รสปร่าหอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน และดับกลิ่นคาว

ผ้าทอสร้อยดอกหมาก จังหวัดลำปาง

โดย อรทัย ทรงศรีสกุล นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ความรู้ด้านงานช่างฝีมือพื้นบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ ความเฉลียวฉลาดของชุมชน จนกลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งผ่านการคิดค้น เลือกสรร กลั่นกรอง และปรับปรุงด้วยสติปัญญาอัญชาญฉลาดบนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ ข้าพเจ้า และทีมงานได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูล ผ้าทอสร้อยดอกหมาก ของบ้านนาเดา ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม ผลจากการจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญางานช่างฝีมือพื้นบ้านในครั้งนี้ พบว่าภูมิปัญญาเป็นผู้มีความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะเฉพาะตัว สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ในการทอผ้า ให้แก่กลุ่มทอผ้าบ้านนาเดา ตลอดจนถึงผู้ที่สนใจ ได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ ยังพบว่าลายผ้าที่คิดค้นเป็น ภูมิปัญญา ดั่งเดิมของชาวอำเภอเสริมงามอย่างแท้จริงมิได้ลอกเรียนแบบมาจากใคร มีการถ่ายทอดสืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๖
จุดเด่นของผ้าทอลายสร้อยดอกหมาก คือ มีเกสรสร้อยดอกหมากลวดลายเด่นทั้งสองด้าน สามารถนำเส้นสีด้ายอื่นมาผสมเส้นลายสร้อยดอกหมาก มีเส้นยืน เส้นพิเศษ ๒ เส้น คือ เส้นยืนและเส้นพิเศษ ตะกอที่ ๑ และตะกอที่ ๔ มีตะกอละ ๒ เส้น ตะกอที่ ๒ และตะกอที่ ๓ อย่างละ ๑ เส้น
กระบวนการทอผ้าลายสร้อยดอกหมาก ของบ้านนาเดา ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง เป็นงานหัตถกรรมที่พึ่งพิงธรรมชาติ อาศัยวัตถุดิบภายในชุมชน และตั้งกลุ่มเพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว โดยผลิตกันในช่วงเวลาว่างจากการทำนา ทำไร่ หรืองานหลักอื่น ๆ ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านนาเดาได้นำเอาไหมประดิษฐ์มาทอผ้าลายสร้อยดอกหมากเพิ่มเติม เพื่อสนองตอบต่อตลาด ภูมิปัญญาการทอผ้าลายสร้อยดอกหมาก เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ของช่างฝีมือพื้นบ้านที่สามารถถักทอผ้าให้มีลวดลายที่สวยงาม แสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างน่าชื่นชม สามารถถ่ายทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้รับทราบและเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของตนเองสืบต่อไป
องค์ความรู้ภูมิปัญญาของช่าง
๑. เทคนิคการตีฝ้ายต้องตีโดยใช้แรงให้พอเหมาะและใช้ความชำนาญ
๒. การปั่นฝ้าย ควรจะปันฝ้ายตอนกลางคืนจะดี ไม่ทำให้ฝ้ายขาด
๓. การดึงฝ้ายให้ใช้แรงพอดีไม่หนักหรือเบาเกินไป
๔. การดึงด้ายในการใส่เครื่องกี่ทอต้องใช้ความชำนาญ และความละเอียดในการสอด ตะกรอ
๕. ทุกขั้นตอนของการทอผ้าต้องใช้สมาธิ
ราคาผ้าทอสร้อยดอกหมาก เมตรละ ๑๘๐ บาท
สามารถสั่งซื้อได้จากประธานกลุ่ม นางปรียาภรณ์ ยะหัวฝาย
๖/๑ หมู่ ๖ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
โทรศัพท์ ๐๘๕๗๒๐๕๓๙๘

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับประโยชน์ต่อสุขภาพ

โดย นายอนุวัต ปราชญ์เวทย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
น้ำมันมะพร้าวช่วยลดความเสื่อมของร่างกาย
เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นสารแอนตีออกซิแดนท์ จึงช่วยลดความเสื่อมและการอักเสบที่เกิดจากการอ๊อกซิเดชั่นของไขมันอื่น ในร่างกาย ช่วยลดอาการของโรคต่างๆที่เกิดจากความเสื่อมอันไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ซึ่งมีอยู่มากมายหลายโรคเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ข้ออักเสบ สะเก็ดเงิน ลูปัสหรือ SLE (ภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) หลอดเลือดอุดตัน และแม้แต่มะเร็ง สรุปง่ายๆว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมก่อนวัยอันควร ทำให้มีอายุยืนยาว
น้ำมันมะพร้าวช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวที่เรียกว่า LDL คอเลสเตอรอล และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีที่เรียกว่า HDL คอเลสเตอรอล น้ำมันมะพร้าวจึงให้ผลดีกับหัวใจ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และโรคเส้นโลหิตตีบ ซึ่งต่างจากไขมันทรานส์ ที่พบในน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธีบางชนิด ซึ่งลด HDL แต่กลับเพิ่ม LDL
น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าไวรัส แบ็คทีเรีย และเชื้อรา แต่ไม่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลเพราะไม่ทำอันตรายต่อแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ จึงช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
น้ำมันมะพร้าวช่วยให้ร่างกายดูดซับสารอาหารที่จำเป็น
แร่ธาตุที่สำคัญและวิตามินบางชนิดต้องละลายในไขมัน เช่น แคลเซี่ยม แม็กเนเซี่ยม เบตาแคโรทีน วิตามิน A, D, E, K ล้วนต้องละลายในไขมันร่างกายจึงจะดูดซับไปใช้งานได้ คนเราจึงไม่สามารถขาดการบริโภคไขมัน อีกทั้งน้ำมันมะพร้าวย่อยง่าย เปลี่ยนเป็นพลังงานได้เร็ว จึงช่วยนำแร่ธาตุและวิตามินต่างๆเหล่านี้ เข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ยังอุดมไปด้วยเอนไซม์ซึ่งมีความสำคัญมากกับชีวิต

ที่มา : เอนไซม์:กุญแจของชีวิต โดย สมศักดิ์ วรคามิน

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความบันเทิงในชุมชน

โดย ดวงสมร ขอบคำ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
เพลงพื้นบ้าน คือ บทเพลงที่แต่ละท้องถิ่นนำมาร้องกันเพื่อความบันเทิง มักใช้ถ้อยคำเรียบง่ายหรือ
คำที่ใช้ในท้องถิ่น สัมผัสคล้องจองกันหรือไม่มีก็ได้ อาจใช้เครื่องดนตรีประกอบเช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง เป็นเครื่องประกอบจังหวะ หรือมีเพียงการตบมือให้จังหวะก็ได้เพลงพื้นบ้านนิยมเล่นกันในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน เทศกาลวันสงกรานต์ หรืออาจร้องเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน หรือร้องเล่นในกลุ่มเพื่อนของตนก็ได้ ในตำบลห้างฉัตร ก็มีเพลงพื้นบ้านเช่นเดียวกัน เพลงของชาวบ้านในชุมชนนี้ ก็จะมีความโดดเด่น ในเรื่องของเนื้อเพลง และสำเนียงภาษา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เพลงสำหรับเด็ก และเพลงสำหรับผู้ใหญ่
เพลงสำหรับเด็ก คือ เพลงที่ผู้ใหญ่ร้องให้เด็กฟัง ส่วนใหญ่เป็นเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้สำหรับนำเด็กไปนอนในแปล เพื่อกล่อมให้หลับจะมีทำนองพูดถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาสมัยก่อน หรือ
การเล่าถึงวิถีของสัตว์ต่าง ๆ เพลงกล่อมลูก เป็นเพลงที่จะให้เด็กได้หลับไว การที่จะให้หลับไวๆ ก็ต้องมี
เสียง ฮื่อ ๆ จา ๆ หรือฮื่ออ้อน เพื่อให้เด็กฟังแล้วทำให้ง่วง โดยมีทำนอง ดังนี้
เพลงสิกจุงจา 1 มีเนื้อร้อง ดังนี้ “สิกจุงจา อีหล้าหนองต้น สิกจุงจา อีหล้าจุงจ้อง สิกจุงจา อีหล้า
หมู่เหม้า ไปซื้อข้าว ได้ข้าวบุงปลาย ไปซื้อควาย ได้ควายแม้ต้อง ไปซ้องฆ้อง ได้ฆ้องมาตี ไปซื้อหวี ได้หวี
ต่างบ้าน ไปซื้อจ้างได้จ้างหางกุด ไปซื้อสุด ได้สุดตีนซิ่น ไปซื้อซิ่น ได้ซิ่นตีนจก ไปซื้อนก ได้นกถูกไชย
ตาเป็นไป พี่ไปละอ่อน”
เพลงสิกจุงจา 2 มีเนื้อร้อง ดังนี้ “สิกจุงจา อีหล้าคำป้อ ลมปั๊ดย้อ ลมปั๊ดเพียวแดง ตัดไม้ใส่คั้ง
ลูกให้ดั้นกลับอื่อ นอนจ๋า ยะไฮ่ไกลต๋ายะนาไกลบ้าน แปงตูบกั้นหมู่บ้านกองลม น้ำฮ่องโองตีกวางตีกว้าง
น้ำออกก้างเมื่อเอาบ่ฟัง หยิบแต๋งกั้งใส่ซ่าไปขาย หยิบแต๋งลายใสซ่าไปซ่อน แถวบ้านอ้อนคำป้อนขายดี
อะหยังดีๆ แคบหมูแคบดิ้น ตุเจ้าลาบเล่นแต่งควาย หลับหยาเด้อนายแม่อื่อนอนจ๋า”
เพลงสิกจุงจา 3 มีเนื้อร้อง ดังนี้ “สิกจุงจา อีหล้าจุงจ้อย ขึ้นดอยน้อยบ่อขึ้นดอยหลวง ซื้อผักขี้กวางใส่ซ้าตางลุ่ม ซื้อผักขี้ขุ่นใส่ซ่าตางบน ลูกแก้วสองตนฮื้อคนขี่นึ่ง สีดีดซึงฮื้อแม่สาวฟัง ขวกขี้ดังฮื้อแม่สาวจูบ แป๋งตูบน้อยฮื้อแม่สาวงอน ขี้ยองขอนฮื้อแม่สาวไว้ ห้อยดอกไม้ฮื้อแม่สาวเน็บ ตะเข็บขบหูปู๋แหนบข้าง จ้างไล่แตงแมงขบเขี้ยว ปู่เงี้ยวไล่ฟัน ขุดขุมแมงมันตีก๋องมุย ๆ ตะลุยลงต้า จะก่าหวีหัว นกกระถั๋วแยงแวน นกแว่น
แยงเงานกเขาเกลาปีก นกกระจีกหวันหล้า ป้อก่าก่างัว”
เฉพาะเพลงพื้นบ้านสิกจุงจา เพลงเดียว ก็มีหลายเนื้อร้องแปรเปลี่ยนไปตามแต่ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนนั้น ๆ จะร้องกล่อมเด็ก ซึ่งเป็นลูกหลานของตน ให้นอนหลับได้เร็วขึ้น นั้นเอง
--------------------
แหล่งที่มา สัมภาษณ์ แม่ยวง สุริยา, แม่กำป้อ สารสุรินทร์, แม่ไข แสนคำฟู , ผู้ให้สัมภาษณ์)

การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา และพิธีวางพานพุ่มเงินพุ่มทอง

โดย.นายวีรพันธ์ นันเพ็ญ(หนานนันท์)
การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา เป็นเรื่องเบื้องต้นของพิธีและเป็นจุดศูนย์รวมของงาน การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา จึงเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ การจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชานั้น มีลักษณะการตั้งคล้าย ๆ กัน จะต่างกันก็เพียงจำนวนโต๊ะว่ามีมากน้อยเท่านั้น เช่น หมู่ ๕ หมู่ ๗ หมู่ ๙ เป็นต้น หากจะกล่าวถึงลักษณะ การจัดเป็นประเภทก็จะจัดกว้าง ๆ เป็น ๙ ประเภท คือ
- การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ
- การจัดโต๊ะหมู่ในการประชุมสัมมนา อบรม
- การจัดโต๊ะหมู่ถวายราชสักการะ ถวายราชสักการะ
- การจัดโต๊ะหมู่บูชาหน้าศพหรืออัฐิ
ในการจัดตั้งโต๊ะหมู่ทั้ง ๓ ประเภทนั้น ที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไปจะเป็นโต๊ะหมู่ ๕ หมู่ ๗ หรือหมู่ ๙ ต้องพิจารณาสถานที่นั้น ๆ ก่อนจะตั้งต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย ในการจัดตั้งโต๊ะหมู่ แต่ละประเภทมีความแตกต่างดังนี้
การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีบำเพ็ญกุศลทั่ว ๆ ไป โต๊ะหมู่ตัวกลางแถวบนสุด ประดิษฐานพระพุทธรูป ตัวกลางแถวล่างสุด วางกระถางธูปและเชิงเทียนบูชา โต๊ะที่เหลือจากนั้นวางแจกันดอกไม้ เชิงเทียนประดับ และพานพุ่มตามที่เห็นว่าสวยงาม มีอีกกรณีหนึ่ง คือ จัดบำเพ็ญกุศลในอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ ที่มีพระประธานอยู่แล้ว และโต๊ะหมู่ตั้งตรงพระพักตร์พระประธานโต๊ะหมู่ตัวกลาง แถวบนสุดจะวางพานดอกไม้แทนพระพุทธรูปก็ได้
การจัดโต๊ะหมู่ในการประชุมสัมมนาหรืออบรมที่ไม่มีพิธีสงฆ์ จะจัดเหมือนกับการจัดโต๊ะหมู่ ในพิธีบำเพ็ญกุศลทั่ว ๆ ไป เพียงแต่เพิ่มธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น โดยจัดเรียงลำดับดังนี้ (๑) ธงชาติ (๒) โต๊ะหมู่บูชา (๓) พระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติอยู่ด้านขวา พระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์อยู่ด้านซ้าย โต๊ะหมู่อยู่ตรงกลาง
การจัดโต๊ะหมู่ถวายราชสักการะ ถวายราชสักการะพระบรมรูปหล่อ หรือรับเสด็จ หรือในการถวายราชสักการะในวันสำคัญ ในการจัดโต๊ะหมู่ประเภทนี้ไม่นิยมตั้งเชิงเทียนประดับ จัดตั้งพานพุ่ม และแจกันดอกไม้เท่าที่เห็นว่าสวยงาม โต๊ะตัวกลางแถวบนสุดประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบรมรูปหล่อ หรือพระรูป (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) โต๊ะตัวกลางแถวล่าง วางเครื่องราชสักการะ (ธูปเทียนแพและกรวยดอกไม้) โต๊ะที่เหลือวางพานพุ่มและแจกันดอกไม้
อนึ่ง ในการจัดโต๊ะหมู่ถวายราชสักการะตามที่กล่าวมานั้น หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระชนม์อยู่ แต่สำหรับพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตแล้วโต๊ะหมู่ตัวกลางแถวกลาง วางเครื่องราชสักการะ โต๊ะหมู่ตัวกลางแถวล่างวางเครื่องทองน้อยหรือกระถางธูป เชิงเทียน นอกนั้นจัดเหมือนกัน การตั้งโต๊ะหมู่ประเภทนี้ หากเป็นพิธีถวาย ราชสักการะมีการวางพานพุ่มพักไว้ข้างนอก ๑ ตัว เมื่อถึงเวลาพิธีจึงให้ประธานวางพานพุ่มที่โต๊ะหมู่ตัวริมซ้ายขวา แถวล่าง ถ้าพานพุ่มเป็นสีทองและสีเงิน ให้วางพานพุ่มสีทองด้านขวา และพานพุ่มสีเงินด้านซ้าย
ของ พระบรมฉายาลักษณ์

สัตตภัณฑ์

โดย........อรัญญา ฟูคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
สัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียนสำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหารของล้านนาทั่วไป เป็นเครื่องประกอบพิธี
ทางศาสนาของล้านนา นิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียง มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บนยอดสุด มีที่สำหรับปักเทียน ๗ เล่ม สันนิษฐานว่าเลข ๗ น่าจะหมายถึงภูเขา ๗ ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุหรือองค์ พระธาตุเจดีย์ เชิงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งแบบล้านนาโดยทั่วไปสร้างขึ้นจากไม้แกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่าง หนาแน่นเต็มพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นลายนาคเกี้ยวหรือพญานาคพันกันหลายตัว ความเชื่ออย่างหนึ่งของคนล้านนาสมัยโบราณที่มักใช้เครื่องไม้ในการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระศาสนา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน เมื่อไปทำบุญที่วัดจะสังเกตเห็นว่าในวิหารจะมีเครื่องใช้ทางพุทธศิลป์ ตั้งประกอบอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปประธาน อันเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาพุทธ เครื่องสัตตภัณฑ์ที่สวยงามและเป็นของเก่าแก่จริง ๆ ปัจจุบันดูเหมือนจะหาชมได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นของเก่าที่อนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาค้นคว้า ความสำคัญของสัตตภัณฑ์ในพิธีกรรมทางสงฆ์ คือ เป็นเชิงเทียนสำหรับบูชาพระประธานในอุโบสถหรือพระธาตุเจดีย์ เป็นเครื่องสักการะที่สำคัญอย่างหนึ่งในคติทางศาสนาของล้านนา จัดเป็นเครื่องสักการะพระรัตนตรัย สัตตภัณฑ์ส่วนมากจะทำด้วยไม้ สลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ พันธุ์พฤกษา ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นรูปนาค นอกจากช่างจะแกะสลักไม้แล้วบางครั้งยังมีการลงรักปิดทองประดับกระจกสี ด้านบนมักจะสลักเป็นเชิงเทียนรวม ๗ อัน สัตตภัณฑ์และเชิงเทียนทั้ง ๗ อัน มีผู้ให้ความหมายด้านรูปลักษณ์ว่าอาจจะหมายถึง ภูเขาทั้ง ๗ ที่ตั้งรายล้อมภูเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงสวรรค์ที่ประทับของพระเจ้าและเหล่าบรรดาเทวดาทั้งหลาย ประกอบด้วย
ภูเขาลูกที่ ๑ (นับจากปลายยอดวนซ้าย) ชื่อยุคันทร
ภูเขาลูกที่ ๒ ชื่ออิสินธร
ภูเขาลูกที่ ๓ ชื่อสุทัสนะ
ภูเขาลูกที่ ๔ ชื่อวินันตกะ
ภูเขาลูกที่ ๕ ชื่ออัศกัณนะ
ภูเขาลูกที่ ๖ ชื่อเนมินทร
ภูเขาลูกที่ ๗ ชื่อกรวิก
สัตตภัณฑ์ในวิหารพระเจ้าศิลา
วัดพระธาตุลำปางหลวง
ที่มา : ๑. การสัมภาษณ์ นายเกษม สิทธิ มัคคุเทศก์วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
๒. บทความสัตตภัณฑ์และตุงกระด้าง เลขที่บทความ AT-221 Website Lannacorner.net
๓. ครูแผน เพื่อการศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย ศิลปกรรมสากล และความสัมพันธ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ภูมิปัญญาด้านหมอเป่า

ภูมิปัญญา ได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่ทำให้คนไทยคนในท้องถิ่นได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ
วิถีชีวิตตนเอง และสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม องค์ความรู้
ของชาวบ้าน หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดที่เกิดจากสติปัญญา ความสามารถของชาวบ้านที่รู้จักการ
แก้ไขปัญหา หรือการนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน และคติ ความคิด ความเชื่อ เป็นพื้นฐาน
ขององค์ความรู้ที่ได้สั่งสม และสืบทอดกันมาช้านาน
หมอเป่า เป็นกลุ่มหมอพื้นบ้านที่มีบทบาทต่อสังคมของคนในชนบท การเป่า เป็นวิธีการรักษา
ของหมอพื้นบ้าน รักษาอาการเจ็บป่วยโดยใช้เวทมนตร์คาถาเป่าไปตามร่างกายผู้ป่วย บางครั้งอาจจะใช้
สมุนไพรในการรักษาด้วย หมอเป่า จะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษ เช่น ปู่ ตา พ่อ หรือจากครู
ที่สืบทอดกันมา หมอเป่าเปรียบเสมือนแพทย์ที่พอจะรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยให้ผู้ป่วยได้ การคิดค่ารักษา
อาจเป็นค่าตอบแทนเล็กน้อยเพื่อเป็นสินน้ำใจ หรือถ้าผู้ป่วยไม่มีเงินอาจรักษาให้ฟรี และเมื่อผู้ป่วยหายจาก
การเจ็บป่วยก็จะจัดเตรียมของกินของใช้หรือเงินเพื่อนำไปตอบแทนท่านที่ได้รักษาให้จนหายจากการเจ็บป่วย
ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีภูมิปัญญาที่เป็นหมอเป่า หรือหมอพื้นบ้านที่ชาวบ้านไปรักษาชื่อ นางนวล ลาภใหญ่ อายุ ๘๐ ปี บ้านเลขที่ ๒๑๐ หมู่ ๖ ตำบลวังเหนือ เป็นหมอเป่าที่ได้รับการสืบทอดมาจากบิดา ชื่อ นายแก้ว ฐานเสีย ปัจจุบันบิดาถึงแก่กรรมแล้ว และมีบุตรเป็นคนสืบทอดการรักษา
การเป่า ที่มีคนมารักษา เช่น การเป่าตุ่ม เป่ามะเร็งผิวหนัง แผลเรื้อรัง ก้างติดคอ แมลงกัดต่อย วิธีการรักษาด้วยการท่องคาถาแล้วเป่าลงไปตามตุ่มหรือแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยการเป่าติดกันประมาณ ๕ วัน แผลก็จะฝ่อแห้งไปวันละเล็กละน้อยจน ครบ ๕- ๗ วัน ไม่ลุกลามต่อไป และหายขาดในที่สุด
แม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีโรงพยาบาล สถานพยาบาล และมีแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งได้รับความนิยมไปรักษามากกว่าหมอพื้นบ้าน แต่ก็ยังมีชุมชนในชนบทที่ได้ให้ความสำคัญกับหมอพื้นบ้าน และชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาอยู่ ดังนั้น หมอพื้นบ้านจึงยังอยู่ได้อย่างเหนียวแน่นในชุมชน และการรักษาด้วยวิธี
นี้ หากไม่มีผู้สืบทอดไว้ก็จะไม่มีใครรู้จักภูมิปัญญาด้านนี้อีกต่อไป

ผู้ให้ข้อมูล นางนวล ลาภใหญ่ บ้านเลขที่ ๒๑๐ หมู่ ๖ ตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
ผู้สัมภาษณ์ นางสุพัชรีย์ เป็งอินตา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำอำเภอวังเหนือ
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปัญหาการขายบริการทางเพศของวัยรุ่น

โดย นางสาวหัทยา ตันป่าเหียง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ปัญหาที่ล่อใจให้เกิดการขายบริการทางเพศ
๑. ปัญหาทางเศรษฐกิจ ความยากจน
๒. ปัญหาวัตถุนิยม บริโภคนิยม อยากมีอยากได้ อยากใช้ของแพง พฤติกรรมเลียนแบบ มีค่านิยมที่ผิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่า
จะเสียหายอะไร อยากมี ความอยากได้มากกว่าจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือเหมาะสม
๓. ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ผิดหวังในความรัก ถูกทอดทิ้ง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
แนวทางแก้ไขปัญหา
ทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาร่วมกัน
๑. ครอบครัวต้องเข้มแข็ง ให้ความรัก เอาใจใส่ อบรมสั่งสอนให้ประพฤติตนให้เหมาะสม
๒. วัด บ่มเพาะ โดยนำหลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนามากล่อมเกลาและให้นำหลักธรรมคำสั่งสอน ไปประพฤติ
ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
๓. โรงเรียน อบรมให้ความรู้ บ่มเพาะ ขัดเกลาให้เป็นคนดี มีภูมิคุ้มในตนเอง
๔. หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนงบประมาณในการอบรมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน สนับสนุนงบในการสร้าง
พื้นที่ดีให้กับเด็ก สำหรับหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น กระทรวง I C T กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานตรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และที่ผ่านมาสำนักงาน-วัฒนธรรมจังหวัดลำปางและจังหวัดลำปาง ได้จัดโครงการอบรม เด็ก และเยาวชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เช่น โครงการอบรมเยาชนภาคฤดูร้อน โครงการค่ายคุณธรรม จริยธรรม นักเรียน โครงการธรรมทัศนาจร นอกจากนี้ได้ร่วมกับ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด แนะแนว นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาในจังหวัดลำปาง แนะแนว ในเรื่องการจัดระเบียบสังคม เรื่องพฤติกรรมทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ ของกลุ่มวัยรุ่น การใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ยาเสพติด ความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม ในเรื่องของวัตถุนิยม บริโภคนิยม การแต่งกายที่ไม่พึง-ประสงค์ การใช้สื่อเทคโนโลยี การใช้อินเตอร์เน็ตการถ่ายคลิบวีดีโอ การแชทคุยกับคนแปลกหน้าเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงในการละเมิดทางเพศ การสัก การเจาะอวัยวะ และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกจากนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนจากปัญหาความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจังหวัด จำนวน ๑ แห่ง ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมอำเภอ ๑๓ อำเภอ และศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา จำนวน ๑๒๙ แห่ง โดยศูนย์เฝ้าระวังทาง
วัฒนธรรมมีหน้าที่รายงานสถานการณ์ความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่รายงานศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อเสนอรายงานต่อคณะกรรมการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจังหวัด วิเคราะห์สถานการณ์ หาแนวทางป้องกัน แก้ไขปัญหาและแจ้งเตือนภัยให้กับสังคม
ยุทธศาสตร์ แนวทางการแก้ปัญหา เด็กและเยาวชน
“ขจัดร้าย ขยายดี มีภูมิคุ้มกัน”
การสร้างเสริมปัจจัยคุณภาพสำหรับเด็ก
“ครอบครัวคุณภาพ”
“สื่อคุณภาพ”
“พื้นที่คุณภาพ”
“การศึกษาคุณภาพ”

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

น้ำใบย่านาง “สูตรหมอเขียว ใจเพชร กล้าจน”

ใบย่านาง เป็นสมุนไพรที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี ตอนนี้ได้กลายมาเป็นสมุนไพรสุดฮิต ที่มีคุณสมบัติปรับสมดุลในร่างกาย เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และเป็นคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ บางคนอาจคุ้นเคยกับย่านางในฐานะที่ใช้เป็นเครื่องปรุงรสเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม ของแกงหน่อไม้ ยอดอ่อนของเถาย่านางนำมารับประทานแกล้มแนมกับของเผ็ดอื่นๆ บางคนนำใบ ยอดอ่อนใส่ในแกงเลียง ใบย่านาง น้ำคั้นจากใบยังมีแคลเซียมและวิตามินซีค่อนข้างสูง เอ บี 1 บี 2 และเบต้า-แคโรทีน คนโบราณเชื่อกันว่ารากของเถาย่านางนั้นสามารถแก้ไข้ได้ อีกทั้งยังช่วยถอนพิษผิดสำแดงและพิษอื่น ๆ แก้เมาเรือ แก้เมาสุรา แก้โรคหัวใจและแก้ลม ใบก็ช่วยถอนพิษและแก้ไข้
วิธีทำ 1.ใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น อาทิ ใบย่านาง 5- 20ใบ ใบเตย 1-3 ใบ บัวบก ครึ่ง-1 กำมือ หญ้าปักกิ่ง 3-5 ต้น ใบอ่อมแซบ (เบญจรงค์) ครึ่ง- 1 กำมือ ใบเสลดพังพอน ครึ่ง – 1 กำมือ ว่านกาบหอย 3-5 ใบ ถ้าใครสะดวกจะใช้ใบย่านาง เพียงอย่างเดียวหรือใช้หลายอย่างรวมกันก็ได้ 2.ตัด หรือฉีกใบสมุนไพรให้เล็กลง และนำไปโขลกสมุนไพรให้ละเอียด หรือ ขยี้ หรือนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่น (ควรใช้ระยะเวลาไม่นาน 30 วินาที – 1 นาทีก็พอ เพื่อให้ผ่านความร้อนน้อยที่สุด คงคุณค่ามากที่สุด ) 3.นำมากรองผ่านกระชอน หรือผ้าขาวบาง 4.ได้น้ำย่านางแล้ว วิธีกิน ดื่มน้ำย่านางสดๆ ครั้งละประมาณครึ่งแก้ว วันละ 1-3 รั้ง ก่อนอาหารหรือตอนท้องว่างหรือจะดื่มแทนน้ำก็ได้ บางครั้งสามารถผสมน้ำมะพร้าว น้ำตาล น้ำมะนาว ในรสชาติไม่จัดเกินไปเพื่อให้ดื่มง่ายขึ้นก็ได้
สำหรับ บางคนที่รู้สึกว่า กินยาก เหม็นเขียว หรือรู้สึกไม่สบาย ให้กดน้ำร้อนใส่น้ำย่านางหรือนำน้ำย่านางไปต้มให้เดือดก่อนดื่ม หรือผสมกับน้ำสมุนไพรอื่นๆ ที่ชอบ เช่น ขมิ้น ขิง ตะไคร้
**************

ความเชื่อของคนโบราณ

โดย นายอุดม อนุพันธิกุล นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ความเชื่อของคนโบราณที่มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดมักเป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปลักษณ์ ฤกษ์ยาม ลางบอกเหตุ รวมทั้งความเชื่อที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมในการทำศพอีกด้วย ซึ่งคนรุ่นใหม่ในสมัยนี้ ไม่ค่อยใส่ใจมากนัก ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปจากยุคลัทธิ ภูตผีปีศาจเทวดาสู่ยุคสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวิทยาศาสตร์ หากสิ่งใดหาข้อพิสูจน์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็มักจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเรื่องทางไสยศาสตร์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเรื่องงมงาย ล้าหลัง จนกลายเป็น ข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอ ว่าที่จริงแล้วความเชื่อของคนโบราณนั้นเป็นเพียงอุบายที่ผู้ใหญ่ใช้หลอกเด็ก หรือมาจากลางบอกเหตุของสิ่งเร้นลับจริง ๆ ดังจะยกตัวอย่างให้ท่านได้ลองพิจารณาดังต่อไปนี้ครับ ความเชื่อจากการดูลักษณะ โบราณว่าไว้ว่า คนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้คบยากเหลือเกินหากเป็นคนไทยก็ต้องไม่ตัวเล็กแคระแกรน เนื่องจากคนไทยในสมัยโบราณตัวใหญ่ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และถ้าเป็นคนจีนก็ต้องตัวไม่ดำเพราะโดยชาติพันธุ์แล้วชาวจีนต้องมีผิวขาวเหลือง ดังนั้น “ไทยเล็ก เจ๊กดำ” จึงเป็นสำนวนพูดกันมาจนทุกบัดนี้ แต่หากจะพิจารณากันให้ถ่องแท้ คงต้องดูที่นิสัยรวมไปด้วย นั่นเป็นเพียงแต่การสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น ลองใช้ดุลพินิจดูว่าจะเป็นจริงตามที่กล่าวมาหรือไม่ ทั้งนี้ คำกล่าวที่ว่า ไม่ได้รวมหมายถึง การงานของเขาเหล่านั้น ท่านหมายแต่เพียงว่า มักจะมีนิสัยออกไปทางคดโกงเจ้าเล่ห์เพทุบาย เอาเปรียบเท่านั้น
ความเชื่อจากลางบอกเหตุ
มือชนกันขณะกินข้าว จะมีแขกมาเยือน ในสมัยโบราณ การติดต่อสื่อสารไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน ดังนั้น หากจะนัดหมายกับใครก็เป็นไปโดยลำบาก จะต้องได้พบกันก่อนแล้วจึงนัดหมายในครั้งต่อไป แต่คนโบราณก็มีวิธีสังเกตตามความเชื่อ ในขณะที่นั่งล้อมวงรับประทานอาหารกันนั้น หากมีใครคนใดคนหนึ่งในวงเอื้อมมือไปหยิบอาหารพร้อมกันกับอีกคน และชนกันที่กลางสำรับอาหาร ก็เชื่อว่าจะต้องมีแขกมาเยือนกันถึงเรือนชานอย่างแน่นอน ไม่วันนี้ก็เป็นพรุ่งนี้ ซึ่งในลักษณะมือชนกันนี้อาจจะเป็นเหมือนการประสานหรือพบกัน จึงเชื่อว่าจะมีแขกมาเยือนแน่นอน ก็ต้องมีการเตรียมข้าวปลาอาหารไว้คอยต้อนรับ และก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้งไป เรื่องของความเชื่อเหล่านี้ ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้น กรุณาใช้วิจารณญาณและหาเหตุผล ในการอ่าน ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ แต่ถ้าเชื่อก็ควรเชื่ออย่างมีเหตุผลอย่างมงายนะครับ

ที่มา : ๑. Website : Thaifittips.com

โยคะดีต่อสุขภาพอย่างไร

โดย.......เสาวภาคย์ คงแสง นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่เราไม่ค่อยได้สนใจดูแลสุขภาพกันเท่าใดนัก โดยมากมักอ้างเหตุผลง่ายว่าไม่มีเวลา จึงเป็นที่น่าเสียใจยิ่งนักเพราะร่างกายเราก็เหมือนเครื่องจักร เหมือนรถยนต์ หากเราใช้งานไปทุกๆวันไม่บำรุงดูแลรักษา สักวันร่างกายเราก็ทรุดโทรม เกิดการเจ็บป่วย และต้องเสีย ค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกมากมาย ดังนั้นเราจึงขอแนะนำโยคะเพื่อสุขภาพ การเล่นโยคะ นั้นไม่ยากอย่างที่คิด บางครั้งก็สามารถฝึกเอง และเรียนโยคะได้ด้วยตัวเองตามคลิปโยคะ โดยทำตามท่าฝึกโยคะ หรือจะแวะไปฟิตเนตใกล้บ้านท่าน ก็ได้ หากสะดวก
เล่นโยคะให้ได้ผล
การเล่นโยคะต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการฝึกฝนเช่นเดียวกับการเล่นกีฬาอื่นๆ เพื่อความพร้อมและการปรับตัวของร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงและสัดส่วนของกล้ามเนื้อให้สมดุล ที่สำคัญคือการเล่นโยคะเป็นประจำนอกจากจะทำให้เกิดความแม่นยำในการเล่นแต่ละท่าแล้ว ยังทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอีกด้วย ดังนั้น แนะนำว่าควรเล่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ - ๓ วัน ส่วนเวลาในการเล่นประมาณครั้งละ 90 นาที จะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เล่น และที่สำคัญโยคะเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้คุณเพรียวสวย หุ่นเฟิร์ม และยังเหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาที่ข้อเท้า โยคะจึงเป็นอีกคำตอบของผู้ที่ต้องการลดความอ้วนและมีสุขภาพดีไปพร้อมๆ กัน
ข้อดีของการเล่นโยคะ ๑. เลือดลมเดินดี ทำให้ผิวสดใส ลดอาการท้องผูก จึงดีต่อผิวพรรณโดยตรง ๒. ช่วยคลายเส้น ทำให้เดินเหินคล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพที่สง่างาม ๓. ทำให้นอนหลับฝันดี ผ่อนคลาย สิวฝ้าจึงไม่มารบกวน
๔. โยคะบางท่าช่วยให้มีกล้ามเนื้อกระชับ น้ำหนักลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้หุ่นเพรียวสวยแต่ยังมีสุขภาพดี
๕. มีความมั่นใจในการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพราะโยคะช่วยฝึกทั้งร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง และมีความสุขกับสิ่งรอบตัว ๖. โยคะยังช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ร่างกาย จึงไม่มีอาการปวดตามข้อ ๗. ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะโยคะเน้นเรื่องการหายใจ จึงสามารถควบคุมการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเป็นระบบ ๘. มีสมาธิ จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน คุณจึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๙. โยคะบางท่าสามารถรักษาอาการบางอย่างได้ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เช่น โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การปวดประจำเดือน บรรเทาอาการปวดศีรษะ กระตุ้นการทำงานของตับในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ที่มา : Lady Tip.com , เจ้าของกิจการเนอสเซอรี่รักลูก อ.เมือง จ.ลำปาง (สถานที่เปิดบริการฝึกโยคะ)