รวบรวมโดย นางจิราภรณ์ กาญจนา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
โรคสะเก็ดเงินคืออะไร?
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” โรคนี้เกิดจากเหตุปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค สารเคมีหรือสภาวะทางฟิสิกส์ที่เป็นพิษต่อผิวหนังโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติหลายชนิดร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ไม่เหมาะสมมากระตุ้นให้โรคปรากฏขึ้น อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง (Erythematous plaque) ลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ
ทำไมคนบางคนจึงเป็นโรคสะเก็ดเงิน
คนเป็นโรคสะเก็ดเงินเพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บบางรายอาจเกิดอาการอักเสบของเอ็นและข้อร่วมด้วย ผู้ป่วยแต่ละรายมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันได้มาก ทั้งแง่ขนาด การกระจายและความรุนแรงของผื่น ที่กล่าวว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา พี่น้องหรือญาติผู้ป่วยต้องเป็นโรคนี้ทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่ ญาติพี่น้องของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วๆไปหรืออีกนัยหนึ่งคือมักพบคนในครอบครัวเป็นโรคเดียวกับผู้ป่วย
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน พบว่าถ้าบิดาและมารดาเป็นโรค บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้สูงร้อยละ ๖๕ - ๘๓ ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือร้อยละ ๒๘-๕๐ ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นโรคนี้เลย บุตรมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปเหลือเพียงร้อยละ 4 ถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่เป็นโรคบุตรคนถัดไปมีโอกาสที่จะเป็นโรคสูงขึ้นถึงร้อยละ ๒๔ ลักษณะทางพันธุกรรมเป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเกิดโรค การเกิดอาการของโรคไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว ถึงผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ ถ้าไม่มีปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมมากระทบผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสังเกตและพยายามจับให้ได้ว่าปัจจัย แวดล้อมอะไรทำให้โรคของตนกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้โรคกำเริบ พึงเข้าใจว่าปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องโรคสะเก็ดเงิน ค่อยพบกันใหม่เดือนหน้านะคะ
ที่มา : ความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงินสำหรับประชาชน เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น