โดย นางสาวหัทยา ตันป่าเหียง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ปัญหาเด็กและเยาวชนขาดองค์ความรู้ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
๑. ปัญหาด้านศาสนา เด็กและเยาวชนไม่สามารถนำองค์ความรู้และหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา
มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและแก้ไขปัญหาได้ สาเหตุอาจเกิดจากไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ การห่างวัด ห่างศาสนา
หรือแม้ว่าเข้าวัดฟังธรรมก็ฟังบทสวดไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาบาลี หรือความเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม สำหรับการศึกษาในสถานศึกษาหลักสูตรการศึกษาด้านศาสนา ยังเน้นในเรื่องของทฤษฏีไม่เน้นเรื่องของการปฏิบัติ หรือการใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงที่ก่อให้เกิดปัญญา ความรู้ ความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ หรือปัญหาด้านครอบครัวที่ขาดการบ่มเพาะเด็ก ส่งเสริม หรือเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนามาประพฤติ ปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ปัญหาของสื่อที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนซึมซับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
๒. ปัญหาด้านศิลปะ เด็กและเยาวชนขาดองค์ความรู้ด้านศิลปะ และเข้าใจถึงคุณค่าซาบซึ้งในความสุนทรีย์ของศิลปะ ขาดการนำศิลปะมากล่อมเกลาเด็กและเยาวชนให้มีจิตใจที่ละเอียดอ่อน มีคุณธรรม จริยธรรมและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ขาดการส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ทำกิจกรรม หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงออก แข่งขัน จัดแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กเยาวชนด้านศิลปะให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ เกิดทักษะ ได้แสดงออกเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและเกิด
จิตวิญญาณเห็นคุณค่าด้านศิลปะอย่างแท้จริง และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
๓. ด้านวัฒนธรรมเด็กและเยาวชนขาดองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม อาทิ
-วัฒนธรรมด้านภาษา ปัจจุบันเด็กและเยาชนไทยอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงภาษาของวัยรุ่น ศัพท์แสลงหรือคำเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ หากนำไปใช้เพื่อสื่อสารกันเองภายในกลุ่มเล็ก ๆ คงไม่เสียหายมากนักแต่หากอยู่ในที่สาธารณะหรือใช้สื่อสารอย่างเป็นทางการ การพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือในการเรียนนั้นก็ควรจะต้องใช้ภาษาที่ถูกต้องทั้งในการพูด อ่านและเขียน อย่างไรก็ตามการจะให้เด็กใช้ภาษาไทยอย่างสุภาพและถูกต้องนั้น ผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ และบุคคลสาธารณะต่าง ๆ ควรสอนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กด้วย
ปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพูด เขียนภาษาไทยของวัยรุ่นคือสื่อมวลชน โดยเฉพาะ โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ท วัยรุ่นมักจะเลียนแบบออกเสียงการพูดของดารา ศิลปินนักร้อง พิธีกร ดีเจ มักพูดไทยสำเนียงฝรั่ง ใช้ภาษาพูดปนกับภาษาเขียน หรือพูดไทยคำ อังกฤษคำ หรือการแชท ในอินเทอร์เน็ท
-วัฒนธรรมการกิน ปัจจุบันท่ามกลางกระแสสังคมบริโภคที่โลกาภิวัตน์ได้นำมาซึ่งวัฒนธรรม “กิน ดื่ม ช็อป” ปัญหาเด็กและเยาวชนนิยมดื่มน้ำอัดลม อาหารฟาสฟู๊ดหรืออาหารจานด่วน แมคโดนัล พิซซ่า มิสเตอร์โดนัทKFC ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน ขี้โรค สาเหตุจากการโฆษณา ที่ทั้งพ่อ แม่และเด็กไม่ทันตั้งตัวส่งผลต่อวิถีวัฒนธรรมบริโภคและการอบรมเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างชัดเจน
อีกปัญหาหนึ่งคือวัยรุ่นนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ปัญหาการขายเหล้าบุหรี่ให้นักเรียน นักศึกษาของร้านค้า และสถานบันเทิง ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หอพัก ที่เป็นแหล่งให้วัยรุ่นมั่วสุมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือการเกี่ยวข้องกับสารเสพติด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในมิติการบริโภค พบว่า ปัจจุบันเด็ก
และเยาวชนไทยถูกดึงดูดจากโฆษณาให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นิยมแฟชั่นราคาแพงหรือของมียี่ห้อ อาทิ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา น้ำหอม กระเป๋าถือ เสี่ยงต่อการที่เด็กและเยาวชนจะมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
-วัฒนธรรมการเคารพ หรือมารยาทไทย ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไม่น้อยที่กล่าวคำว่าขอบคุณหรือขอโทษไม่เป็น หรือการยกมือไหว้หรือกล่าวสวัสดีผู้ใหญ่ หรือการพูดไม่มีหางเสียง พูดไม่สุภาพ หยาบคาย และแสดงกริยาที่ก้าวร้าว ด่าทอ การไม่เคารพ นับถือพ่อแม่ ครู อาจารย์ ปู่ย่า ตา ยาย หรือญาติ พี่น้อง หรือแม้แต่เรื่องของมารยาทไทยต่าง ๆ เด็กและเยาวชนขาด
องค์ความรู้เรื่องของมารยาทไทยและขาดความตระหนักในการนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ปัญหาอาจเกิดจากการขาดการ บ่มเพาะ การเลียนแบบบุคคลสาธารณะ หรือ สื่อต่าง ๆ หรือคนในครอบครัว
-วัฒนธรรมการแต่งกาย ปัจจุบันวัยรุ่นไทยแต่งกายไม่เหมาะสม ตามกระแสแฟชั่น เลียนแบบดารา นักร้อง
ใส่สายเดี่ยว กางเกงขาสั้น กระโปรง กางเกงเอวต่ำ ชุดนักเรียน นักศึกษาที่ไม่เหมาะสม เสื้อรัดติ้ว กระโปรงคืบผ่าหน้า ผ่าหลัง การไม่รู้จักกาลเทศะแต่งกายที่ไม่เหมาะสมกับสถานที่
-การมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสม เช่นการสักตามร่างกาย การเจาะอวัยวะตามร่างกายจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น
ทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาร่วมกันในการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหา ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณหลายๆ Like ++
ตอบลบ