วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

คุ หรือ แอ่ว


อรทัย ทรงศรีสกุล
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

คุ หรือแอ่ว เป็นงานช่างฝีมือพื้นบ้านอีกชิ้นหนึ่งของภูมิปัญญาซึ่งเป็นเครื่องมือของชาวนานับหลายชั่วอายุคน เป็นภาชนะเครื่องสานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับเครื่องมือเครื่องใช้ทุกอย่างของชาวนา ใช้สำหรับรองรับการฟาดข้าว และบรรจุข้าวเปลือกที่ฟาดได้ ก่อนจะนำไปเก็บที่ยุ้งฉางต่อไป สานด้วยผิวไม้ไผ่ ด้วยลายพิเศษโดยเฉพาะ เรียกว่า ลายสวาดหลวง เป็นลายทึบ แน่นและมีความละเอียดประณีตมาก เป็นภาชนะเครื่องสานที่ทำอย่างแข็งแรงทนทาน ข้าวที่ได้จากการตีด้วยคุนี้ จะได้เม็ดข้าวที่สมบูรณ์และสะอาด เพราะการตีข้าวในคุจะไม่มีกรวด หิน ดิน ทราย ปนเปื้อน เหมือนกับการตีตาลาง และการตีแคร่ซึ่งข้าวต้องตกลงกับพื้น
การเคลื่อนย้ายคุ ทำได้สะดวกและง่ายเพราะสามารถเคลื่อนย้ายคุ ไปยังกองข้าว วิธีการเคลื่อนย้ายคุ ทำได้หลายวิธีคือ
ยกคนเดียว วิธีการยกและเคลื่อนย้ายคุ สามารถทำได้ด้วยคนเพียงคนเดียว วิธีการคือ คว่ำคุครอบศีรษะ ใช้สองมือช่วยพยุงแล้วเดินนำไปวางยังจุดที่ต้องการใช้งาน
ยกสองคน คือช่วยกันจับของคุคนละข้าง สามารถทำได้ทั้งคว่ำและหงายคุ ยกเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการ การยก
วิธีการเก็บ บำรุง รักษา หลังการใช้งาน เนื่องจากคุเป็นภาชนะจักสานขนาดใหญ่ ที่ใช้ตีข้าวเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยวเท่านั้น ในระหว่างช่วงฤดูอื่นที่ไม่ได้ใช้งาน จึงต้องหาวิธีการเก็บรักษาให้คงสภาพ เพื่อให้คุมีอายุการใช้งานได้นาน ก่อนที่จะนำคุไปเก็บ เจ้าของคุมักจะนำคุไปรมควันไฟเพื่อไล่ความชื้นที่เกิดขึ้น เพราะการนำออกไปใช้ตีข้าวกลางท้องนาในฤดูหนาว ที่มีหมอกลงจับคุ ทำให้เกิดความชื้น โดยเก็บไว้ใต้ถุนเรือน เก็บไว้ในโรงเก็บคุ เก็บไว้บนขื่ออาคาร หรือเก็บไว้บนหลองข้าว (ยุ้งข้าว)
ปัจจุบันจังหวัดลำปาง มีการใช้คุตีข้าว น้อยมากจะมีบ้างในบางพื้นที่ เช่นบนพื้นที่สูง เนื่องด้วยสาเหตุที่ลักษณะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตร ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ ไม่เร่งรีบ ผู้คนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาสู่สังคมแบบอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เครื่องจักร และเครื่องทุ่นแรงเข้ามาแทนที่แรงงานคน ค่าแรงเริ่มสูงขึ้น การเสียสละช่วยเหลือซึ่งกันและกันเริ่มหมดไปทำให้ผู้ทำการเกษตร ทำให้ผู้ทำการเกษตร นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำนา ด้วยในหลายขั้นตอน เช่น การไถก็ใช้รถไถแบเดินตาม แทนการใช้ควาย ในช่วยการตีข้าว ก็ใช้เครื่องโม่เข้ามาแทน การตีข้าว เป็นต้น แต่การายใดยังใช้คุในช่วยการตีข้าวอยู่แล้ว คุเกิดชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้ เจ้าของที่นามักจะไม่ซื้อหาคุใหม่มาใช้ต่อ แต่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีตีแคร่แทน โดยนำผ้าพลาสติก ผืนใหญ่ ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาด มาปูยังจุดที่เกี่ยวข้าวกองไว้ แล้วนำพื้นแคร่มาวางรองแล้วตีข้าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น