วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

การหล่อพระพุทธรูป และระเบียบเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ

การหล่อพระพุทธรูป และระเบียบเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ
ด้วยสภาวัฒนธรรมตำบลแม่เมาะ ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลแม่เมาะจัดประชุมปรึกษาหารือการหล่อพระพุทธรูปประดิษฐาน ณ ภูเขาไฟจำปาแดด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ ณ เทศบาลตำบลแม่เมาะ จึงได้มีศึกษารวบรวมข้อมูลการหล่อพระพุทธรูป และระเบียบเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ
พระพุทธรูป คือ สัญลักษณ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนทุกคนกราบไหว้บูชา เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
การสร้างพระพุทธรูปมี 2 ขนาด คือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปขนาดเล็ก พระพุทธรูปที่มีขนาดหน้าตัก 20 นิ้วขึ้นไป จัดว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ โดยมากสร้างไว้เป็นพระประธานในโบสถ์หรือวิหาร แต่กว่าจะออกมาเป็นพระพุทธรูปหนึ่งองค์ให้เราบูชาต้องใช้เวลานานเป็นเดือนเป็นปี เหตุนี้เองช่างทำพระหรือที่เรียกว่าช่างหล่อ จึงต้องเป็นคนที่มีใจรักในงานและมีความอดทนสูง ด้วยความสลับซับซ้อนของขั้นตอนที่มีมากมายหลากหลาย งานหล่อพระพุทธรูปจึงเป็นปฏิมากรรมที่รวมเอาช่างฝีมือในหมวดช่างสิบหมู่ไว้แทบทุกแขนง ทั้งช่างปั้น ช่างหล่อหรือช่างเททอง ช่างขัดและช่างลงรักปิดทอง โดยมีลำดับการสร้างพระพุทธรูปเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นตอนการปั้นหุ่น ช่างปั้นโบราณจะใช้ดินเหนียวคุณภาพดีมีสีเหลืองเรียกว่า "ดินขี้งูเหลือม" นวดผสมกับทรายละเอียด โดยการเหยียบให้เข้ากัน จากนั้นจึงเริ่มปั้นส่วนต่างๆ ขึ้นมาเป็นองค์พระ ถ้าเป็นการปั้นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อาจต้องปั้นส่วนต่างๆ ของพระวรกายแยกกัน เช่น นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาท พระกรรณ รัศมี และเม็ดพระศก แล้วจึงนำมาประกอบกันในภายหลัง แล้วตกแต่งองค์พระทั้งด้านนอกและแกนในให้ได้สัดส่วนสวยงามเกลี้ยงเกลาตามศิลปะสมัยนิยม เมื่อปั้นหุ่นหรือพิมพ์ได้รูปแล้วก็มาถึงขั้นตอน การเข้าขี้ผึ้ง นับเป็นงานฝีมืออีกอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญอย่างมาก (ขี้ผึ้งทำมาจากรังผึ้งที่ต้มเคี่ยวจนนิ่มติดมือ แล้วนำไปผสมกับยางชันกรองด้วยผ้าขาวบางจนได้เนื้อขี้ผึ้งละเอียด) แช่พิมพ์ในน้ำสักพัก จากนั้นทาดินเหนียวบางๆ ทั้งสองด้านของพิมพ์เพื่อเคลือบให้ผิวดินและทรายเป็นเนื้อเดียวกัน กรอกขี้ผึ้งลงไปในพิมพ์ให้เต็มแล้วเทออกใส่อ่างน้ำ ในกระบวนการนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากความร้อนจากขี้ผึ้งหลอมละลายมีอานุภาพทำให้มือและนิ้วแดงพองได้ ปั้นขี้ผึ้งที่เทลงอ่างเป็นแท่งกลมยัดลงพิมพ์ให้แน่นที่สุด ใช้มีดเฉือนขี้ผึ้งส่วนเกินออก แช่พิมพ์ลงในน้ำสักพักก็สามารถแกะแบบพระพิมพ์ขี้ผึ้งออกมาได้ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ จะใช้วิธีตีลาย คือนำขี้ผึ้งวางบนลายพิมพ์แล้วใช้ไม้รวกบดขี้ผึ้งจนเป็นลายตัดออกมาประกอบกับองค์พระก่อนนำไปหล่อต้องทามูลวัวลงบนหุ่นพระขี้ผึ้งเสียก่อน เพื่อให้เนื้อของแบบพิมพ์เรียบสนิท ที่สำคัญคือช่วยรักษาความชัดเจนของรูปร่างและลวดลายขององค์พระไว้อย่างดีด้วย (ส่วนผสมที่เรียกว่ามูลวัว คือ การนำมูลวัวสดๆ มาคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นนำมาผสมกับดินนวล) ทามูลวัวลงบนหุ่นพระขี้ผึ้งซ้ำไปซ้ำมา 3 ชั้น ตอกทอยเข้าไปในหุ่นเพื่อรับน้ำหนักให้สมดุลกัน (ทอยส่วนใหญ่มักทำด้วยเหล็ก) หุ่นที่ทามูลวัวเมื่อแห้งดีแล้วนำมาพอกด้วยดินเหนียวผสมทรายให้ทั่วอีกรอบ ก่อนนำออกผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้งสนิท
๘กรรมวิธีต่อไป คือ การเข้าลวด ขั้นตอนนี้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญเพราะลวดที่พันรอบหุ่นคือเกราะป้องกันการแตกตัวของดินเมื่อได้รับความร้อน หุ่นพระจะเสียหายและอาจต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หากดินแตก เมื่อผูกเหล็กเรียบร้อยแล้ว นำดินเหนียวพอกทับแม่พิมพ์อีกครั้งให้มิดลวด ขั้นตอนนี้เรียกว่า ทับปลอก จากนั้นจึงปั้นปากจอกหรือชนวนปิดบริเวณปากทางที่จะเททอง
2. ขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูป
ภาษาช่างเรียกขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูปว่า "การเททอง" หมายถึง การสุมทองหรือหลอมโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง ทองสัมฤทธิ์ ให้ละลายเป็นของเหลวแล้วเทโลหะหรือทองนั้นลงในแม่พิมพ์ การหลอมโลหะนับเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน โดยเฉพาะทองแดงต้องใช้เวลาหลอมละลายไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง การหล่อพระนิยมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเผาหุ่นและใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหลอมโลหะ ก่อนเททองต้องทำการสุมไฟหุ่นให้ร้อนจัดเพื่อสำรอกขี้ผึ้งที่ปั้นเป็นหุ่นอยู่ภายในหลอมละลายไหลออกมาจากแม่พิมพ์ทางช่องชนวนจนหมด และเผาแม่พิมพ์ต่อไปจนสุกพร้อมที่จะเททองหล่อพระได้ การหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ต้องทำนั่งร้านสำหรับเททอง พระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่หรือมีความสูงมากๆ จะใช้วิธีหล่อเป็นสองท่อนแล้วนำมาประกบกัน เมื่อเผาแม่พิมพ์ได้ที่ขณะเดียวกับทองที่หลอมในเบ้าละลายดีแล้ว ก็เตรียมยกเบ้าทองไปเทลงในแม่พิมพ์ได้เลย การเททองต้องเทติดต่อกันมิฉะนั้นจะไม่ต่อเป็นเนื้อเดียว
ภายหลังการเททองเสร็จแล้วต้องปล่อยให้ทองในแม่พิมพ์เย็นตัวจึงจะจัดการทุบแม่พิมพ์ดินออกได้ รื้อแก้ลวดที่รัดแม่พิมพ์ออกให้หมด ถอนหรือตัดทอยออกแล้วใช้ตะไบหยาบขัดให้ทั่วทุกมุม พระพุทธรูปสำเร็จก็จะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
2.. ขั้นตอนการขัดแต่งพระพุทธรูป
พระพุทธรูปเมื่อทุบแม่พิมพ์ออกแล้วผิวพื้นขององค์พระจะไม่เรียบ มีคราบเผาไหม้ปรากฏอยู่โดยทั่ว ดังนั้น เมื่อทำการหล่อแล้วจึงต้องมีการขัดแต่งผิวให้มันเงา ขั้นตอนการขัดมันในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องขัดกดจี้กับองค์พระจนผิวเรียบเกลี้ยง จากนั้นเปลี่ยนผ้าขัดเงาให้เป็นผ้าที่มีความนิ่มปุยขัดต่อโดยใช้ยาขัดเงาสีแดงเป็นตัวเพิ่มความแวววาว จากนั้นจึงลงรักปิดทองด้วยการนำองค์พระล้างน้ำให้สะอาดก่อนลงรัก ใช้น้ำรักผสมสมุกบดให้เข้ากันจนข้นแข็งไม่ติดมือ นำน้ำรักมาเกลี่ยให้ทั่วองค์พระปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10-20 วัน เมื่อรักแห้งสนิทขัดอีกครั้งด้วยกระดาษทรายลบสันคมและรอยคลื่นออกให้เกลี้ยงเกลา ล้างน้ำให้สะอาดทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อองค์พระแห้งแล้วใช้แปรงจุ่มลงทาให้ทั่ว ผึ่งลมรอจนแห้งแล้วใช้น้ำรักทาทับอีกครั้ง คลุมองค์พระด้วยผ้าชุบน้ำทิ้งไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง แล้วเปิดออกดู เมื่อน้ำรักไม่ติดมือก็ถือว่าใช้ได้ ปิดทองแล้วเกลี่ยให้ทั่วตลอดองค์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็มาถึงพิธีการเบิกพระเนตร สำหรับตาดำนิยมใช้นิลดำทำเป็นรูปทรงไข่ ตาขาวใช้เปลือกหอยมุกไฟ ปอกเปลือกนอกออก แต่งด้วยตะไบแล้วนำไปติดโดยใช้น้ำรักผสมสมุก (ใบตองแห้งเผาแล้วนำมาร่อนจนละเอียด) ตาหนึ่งข้างจะติดที่หัวตา 1 อัน และหางตาอีก 1 อัน ขณะใส่ตานิลต้องท่องคาถาคำว่า "ทิพจักขุ จักขุ ปะถัง อาคุจฉาติ" เป็นอันเสร็จพิธีการปั้นและหล่อพระพุทธรูป
ระเบียบเกี่ยวกับการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ
สำหรับการหล่อพระพุทธรูปนั้น หน่วยงานหรือผู้ที่มีความประสงค์จะจำลองพระพุทธรูปสำคัญจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 โดยจะต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขออนุญาตดำเนินการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ เสนอถึง อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาอนุญาตดำเนินการ โดยแนบเอกสารดังนี้
1) ชื่อและประวัติความสำคัญของพระพุทธรูปที่ขอจำลอง
2) เหตุผลและวัตถุประสงค์ในการขอจำลองพระพุทธรูปที่จำลองแล้ว
3) รูป ลักษณะ ขนาด หรือแบบรายการของพระพุทธรูปที่จำลองแล้ว
4) จำนวนที่ขอจำลอง และชนิดของวัสดุที่ใช้จำลอง
5) รายละเอียดอื่นๆ รวมทั้งชื่อหน่วยงาน บุคคล หรือนิตบุคคลที่รับผิดชอบดำเนินการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ

ที่มาข้อมูล
1.ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520
2.www.aksorn.com3.หนังสือกินรี ฉบับเดือนเมษายน 2003 หน้า 60 - 72

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น