วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

คาเฟอีนในกาแฟ

โดย อดุม อนุพันธิกุล นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์กาแฟบรรจุกระป๋องที่วางจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ การโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบันพยายามสร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่นเข้าใจว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่สามารถผูกใจ เพื่อนชาย-หญิงของวัยรุ่นได้ เช่นเดียวกับการโฆษณาเพื่อสร้างค่านิยมในการดื่มน้ำอัดลม บางชนิดในกลุ่มวัยรุ่น โดยเน้นว่าเป็นเครื่องดื่มของคน รุ่นใหม่ การดื่มกาแฟจะทำให้ ร่างกายได้รับสารชนิดหนึ่งที่สำคัญ คือ คาเฟอีน สารคาเฟอีนนี้นอกจากจะมีในกาแฟแล้วยังพบในชา โกโก้ และเมล็ดโคลา คาเฟอีนเป็นสารที่มีฤทธิ์ ต่อร่างกายหลายประการ เช่น กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตทำให้โลหิตไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่ากระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกตื่นตัวไม่ ง่วงนอน กระตุ้นการหลั่งของกรดเกลือในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะอย่างอ่อน เป็นผลให้มีการขับถ่ายแคลเซียมออกจากร่างกายเพิ่มขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ในคนที่ไวต่อ ฤทธิ์ของคาเฟอีนหรือได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับกระสับกระส่าย และปวดท้อง
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแคลเซียมในปริมาณสูงเพื่อนำไปสร้างกระดูก เนื่องจากเป็น วัยที่ร่างกายยังมีการเจริญเติบโตด้านความสูงอีกช่วงหนึ่งของชีวิต การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมาก เป็นประจำอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเสริมสร้างความสูง และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไปนานๆ จะมีอาการติดสารคาเฟอีน คือ ถ้าไม่ได้ดื่มจะรู้สึก เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น หรือรู้สึกเหนื่อยล้า วัยรุ่นที่มีความเคร่งเครียดในระยะที่ต้อง ดูหนังสือหรือทำกิจกรรมมาก ๆ ถ้ามีอาการเหนื่อยล้า แสดงว่า ร่างกายต้องการที่จะได้ พักผ่อน การหาทางออกด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกาย ทำงานต่อไป จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้นและมีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

ที่มา : ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น