โดย นางสาวหัทยา ตันป่าเหียง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สังคมทั่วโลกปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีผลให้คนในสังคม ทุกวัย ต่างตกอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ และถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาจนยากจะต้านทานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน เป็นกลุ่มที่ถูกวัฒนธรรมดังกล่าวกลืนกินและหล่อหลอม จนกระทั่งเกิดปัญหารุนแรงขึ้นในสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งตัวของเยาวชนเองก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะประสบปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น
จากผลการวิจัยเรื่อง “เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม” ของ ดร. อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ สรุปถึงพฤติกรรมเด็กไทยในมิติต่าง ๆ ๕ เรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ
๑. ในมิติศาสนาและครอบครัว พบว่า สถานการณ์ครอบครัวไทยในปัจจุบันอ่อนแอ การจดทะเบียนสมรส มีน้อยลงแต่อัตราการหย่าร้างกลับสูงขึ้น และครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาคุณภาพชีวิตทำให้พ่อแม่ต้องห่างเหินกับลูก และวัยรุ่นโดยเฉลี่ยใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง และยังห่างเหินจากสถาบันศาสนามากขึ้นด้วย จากการสำรวจพบว่าวัยรุ่นจำนวน ไม่น้อยไม่เคยไปวัดฟังเทศน์เลยในรอบ ๑ เดือน และยังไม่ค่อยได้ทำบุญตักบาตร แต่กลับเลือกที่จะไปใช้ชีวิตตามห้างสรรพสินค้า ดูหนัง คุยโทรศัพท์ หรือเล่นอินเทอร์เน็ท เพื่อพูดคุยหรือเพื่อความบันเทิงมากกว่า
๒. ในมิติของการบริโภค พบว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญกับกระแส “วัฒนธรรมกิน ดื่ม ช้อป”
อันเป็นตัวเร่งให้เกิดค่านิยมบริโภคอย่างมหาศาล เด็กวัยรุ่นถูกดังดูดจากโฆษณาให้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นิยมแฟชั่นราคาแพงหรือของมียี่ห้อ อาทิ โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา น้ำหอม กระเป๋าถือ รวมถึงการนิยมบริโภคของมึนเมาต่าง ๆ ก็มีอัตราที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
๓. ในมิติด้านสื่อและการแสดงออกทางเพศ พบว่านับวันจะรุ่นแรงมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุโดยเฉลี่ยจะน้อยลงเป็นลำดับ ขณะเดียวกันยังมีค่านิยมการมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งมากขึ้นและยังใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเซ็กส์ครั้งแรกน้อยที่สุดในโลก อีกทั้งปัญหาอาชญากรรมทางเพศของวัยรุ่นดูจะสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขืน การใช้พื้นที่สาธารณะในการพลอดรักมีมากขึ้น
๔. ในมิติการเสี่ยงโชค พบว่าวัยรุ่นอยู่ในวงจรการพนันมากขึ้น เช่น การพนันฟุตบอล ซึ่งสถานการณ์การพนันในหมู่วัยรุ่นมีแนวโน้มว่าจะขยายขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากค่านิยมความเชื่อว่าเป็นการลงทุนต่ำ แต่ให้ผลกำไรกลับคืนทวีคูณหากโชคดี ถือเป็นช่องทาง “รวยลัด”
๕. ในมิติแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม พบว่าเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เช่น ปัญหาความแตกต่างและรอยร้าวทางวัฒนธรรมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การยกพวกตีกันของเด็กอาชีวะ อันเป็นการต่อต้านสังคมของเยาวชนอีกแบบหนึ่ง ปัญหาเด็กต่างชาติพันธุ์จำนวนมากที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาและถูกละเมิด ดูถูกหรือ ข่มแหงทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนชาวเขา พม่า หรือเด็กตามชายตะเข็บชายแดน อันเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่เน้น “การขายความต่างทางวัฒนธรรม” หรือใช้วัฒนธรรมเป็นสินค้าจนละเลยความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ ดร. อมรวิชช์ มองว่า ปัญหาพฤติกรรมของเยาวชนที่ปรกกฎอยู่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในสังคมมีพื้นที่เสี่ยงหรือแหล่งอบายมุขมากกว่าพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ สำหรับเยาวชนส่วนใหญ่แล้ว พื้นที่เสี่ยงที่ใกล้ตัวมากที่สุดน่าจะเป็น “ร้านเกม” ที่ปัจจุบันมีอยู่ทุกหัวระแหงมากมาย เยาวชนบางคนจึงใช้เวลาอยู่ในร้านเกมวันละกว่า ๑๐ ชั่วโมง บางรายไม่ยอมเรียนหนังสือ เสียทั้งการเรียนและเงินทอง ยิ่งไปกว่านั้นผลของการเล่นเกมทำให้เยาวชนมีสังคมแคบลง แยกตัว ไม่มีเพื่อน เกมที่รุนแรงบ่มเพาะความก้าวร้าวและเคยชินต่อการใช้ความรุนแรง ชอบเถียงและใช้ความรุนแรงและมีความคิดว่าการใช้ความรุนแรงคือความถูกต้องชอบธรรมและเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันระบบการเล่นของเกมยังได้ปลูกฝังลักษณะนิสัยของการแข่งขันและการบริโภคอย่างไม่รู้จักพอให้แก่เยาวชน ทำให้กลายเป็นคนที่ยึดตนเองเป็นที่ตั้ง และแปรผันจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัวในที่สุด
ไม่เพียงแต่เกมออนไลน์บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ก่อให้เกิดพื้นที่เสี่ยงขึ้นใกล้ตัวเยาวชนและเป็นต้นตอแห่งนิสัยชอบใช้ความรุนแรง โทรทัศน์เป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่สร้างพื้นที่เสี่ยงจากรายการที่ออกอากาศทั้งรายการประเภทละคร การ์ตูน ภาพยนตร์ ข่าว และโฆษณา ล้วนมีภาพของการใช้ความรุนแรงที่เยาวชนสามารถซึมซับมาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมตนเองได้โดยง่าย
ในเวลาเดียวกัน การที่เยาวชนให้เวลาแก่เกมและโทรทัศน์รวมทั้งโทรศัพท์มากเกินไปนั้น ทำให้มีเวลา อ่านหนังสือน้อยลง ในปี ๒๕๔๘-๒๕๔๙ พบว่าเด็กและเยาวชนไทย ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละไม่ถึง ๒ ชั่วโมง และในปี ๒๕๕๐ ก็ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยมากขึ้นอีกวันละประมาณ ๒๐ นาที เท่านั้น
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สื่อสารสนเทศในปัจจุบันเปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในขณะที่ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กและเยาวชนระบุว่าสื่อที่เป็นอันตรายนำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ สื่ออินเทอร์เน็ท เพราะมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดมากกว่าเนื้อหาที่ตายตัว ต่างกับสื่ออื่น ๆ ทำให้ยากต่อการดูแล เยาวชนจึงเข้าถึงสื่อลามกทางอินเทอร์เน็ทเป็นอันดับ ๑ รองลงมาเป็นวีซีดีและหนังสือ ในอัตราส่วน ๔ ต่อ ๒ ต่อ ๑ ตามลำดับ และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงข้อมูลการใช้ อินเทอร์เน็ท ในปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ทประมาณ ๑๓.๑๕ ล้านคน ในจำนวนนี้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือราว ๖.๕ ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนต่ำกว่า ๒๕ ปี ขณะที่สถานการณ์เว็บไซด์ที่มีเนื้อหายั่วยุเรื่องเพศของไทย ก็มีจำนวนมากราว ๕๐๐,๐๐๐ เว็บไซด์ และสิ่งที่ระบาดเร็วที่สุดคือคลิปวีดีโอ ที่แสดงภาพนุ่งน้อยห่มน้อยของเด็กสาว ซึ่งการเผยแพร่คลิปในลักษณะนี้จะกระทำอย่างโจ่งแจ้ง มีผู้เป็นสปอนเซอร์เผยแพร่คลิปโป๊เปลือย อย่างน้อย ๒๕๐ เว็บไซด์ ผลการบริโภคสื่อที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ ส่งผลให้แนวโน้มของเด็กที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเทอร์เน็ทเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากอัตรา ๘.๙% ในปี ๒๕๔๙ เป็น ๑๑.๕% ในปี ๒๕๕๐ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง ๑๕ % ในปี ๒๕๕๑
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สื่อสารสนเทศ รวมทั้งสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันนำมาซึ่งความเสียหายนานัปการและกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก
ข้อมูล จากหนังสือวัคซีนสื่อสร้างสรรค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น