วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การบริหารจิตและเจริญปัญญา III

สาระสำคัญ
.................พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ เน้นเรื่องการฝึกจิตเป็นสำคัญ การบริหารจิตและเจริญปัญญาเป็นวิธีการดูแลและทำนุบำรุงจิตใจของมนุษย์ให้มีความบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสมาครอบงำให้รู้จักละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรม โดยใช้วิธีการฝึกตามหลักสติปัฏฐาน ๔ จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติสัมปชัญญะดีเลิศและมีจิตมั่นคงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการเจริญปัญญา เพราะจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีการพูด การคิด และการกระทำที่ถูกต้อง โดยอาศัยวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เพื่อที่จิตและปัญญาของมนุษย์จะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น มีการเรียนรู้ได้รวดเร็วและถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของตนและสังคม
การบริหารจิตและเจริญปัญญา
.................การบริหารจิต หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้เจริญและประณีตยิ่งขึ้น มีความปลอดโปร่ง มีความหนักแน่นมั่นคง โดยเริ่มจากการฝึกฝนจิตให้เกิดสติและฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในจิต ในการที่จะให้จิตมีสติได้นั้น ผู้ฝึกต้องมีวิธีการดังนี้คือ การตั้งใจให้มีสติปสัมปชัญญะอยู่เสมอ การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วนและการมีใจน้อมไปในการมีสติคืออยากจะมีสติมั่นคง กล่าวคือ
................๑. การตั้งใจให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือ ผู้ฝึกจะต้องตั้งใจกำหนดรู้สึกตัวอยู่ทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องใคร่ครวญทำช้าๆ อย่ารวดเร็วเกินไป เช่น ในขณะเดิน ยืน นั่ง นอน จะต้องพยายามให้ตัวสติระลึกอยู่ตลอดเวลาทุกๆ อิริยาบถและมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่เสมอ เมื่อตั้งใจปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวก็จะทำให้ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
................๒. การคบกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคง คือ พยายามเข้าสมาคมกับคนผู้มีสติปัญญามั่นคงด้วยการทำ การพุด และการแสดงออกอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น การเข้าไปพบปะสนทนากับพระสงฆ์ผู้ฝึกสมาธิมาดีแล้ว โดยพิจารณาจากการพูดและการกระทำ ท่านจะอยู่ในลักษณะสำรวมระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เราผู้เข้าร่วมสมาคมด้วยเกิดการตั้งสติและมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวสำรวมระมัดระวังตัวเช่นเดียวกับท่าน
................๓. การไม่คบคนที่มีจิตใจฟุ้งซ่านปั่นป่วย คือ คนใดที่มีสติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ ซึ่งมีการกระทำการพูดผิดๆ ถูกๆ อยู่ตลอดนั้น เราไม่ควรจะไปคบด้วย เพราะการสมาคมกับคนประเภทนี้บ่อยๆ เข้าบางทีจะทำให้เราติดโรคสติฟั่นเฟือนได้ เว้นได้แต่เข้าไปคบด้วยความสงสาร เพื่อจะแนะนำเขาในบางครั้งบางคราวเท่านั้น
...............๔. การมีใจน้อมไปในการมีสติ คืออยากเป็นคนมีสติมั่นคง โดยตัวเราเองต้องพยายามขวนขวายปลุกใจให้เห็นคุณค่าในการมีสติสัมปชัญญะแล้วปฏิบัติธรรมเพื่อนำจิตของตนให้เป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิในขั้นต้น แม้เพียงขณิกสมาธิอันเป็นสมาธิชั่วขณะที่เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไปในการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เท่านี้ก็จะทำให้เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดีขึ้นอย่างแน่นอน
...............นอกจากนี้แล้วพระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงวิธีการฝึกสติให้สมบูรณ์ไว้ในสติปัฏฐาน ๔ อย่าง กล่าวคือ การดำรงสติไว้ที่ฐานมี ๔ อย่าง ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม และกำหนดพิจารณาฐานทั้ง ๔ เหล่านั้น เช่น กายานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ เวทนานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์ จิตตานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์ และธัมมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์

โดย หัทยา ตันป่าเหียง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น