วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความเชื่อ…….ประเพณีฟ้อนผี

............ประเพณีการฟ้อนผีปู่ย่า หรืออีกนัยหนึ่งคือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ โดยมีดนตรีมาประโคมให้ผีหรือเจ้าได้ฟ้อนรำของชาวลำปาง ซึ่งมีทั้งผีมด ผีเม็ง โดยมีช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓) หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงย่าง เข้าฤดูฝนนั้น เป็นศาสนาเชื่อของชาวลำปางอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตน นอกจากจะเป็นประเพณีที่แปลกแล้วพิธีกรรมความเชื่อแบบนี้ สามารถกล่าวได้ว่า มีแพร่หลายชุกชุมจนนับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวลำปางก็ว่าได้ ยังไม่ทราบว่า ประเพณีฟ้อนผีมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคใด สันนิษฐานจากพฤติกรรมตลอดจนพิธีกรรมอันเป็นภาพรวมของประเพณี นี้แล้ว พอเป็นเค้าได้ว่า เป็นประเพณีที่มาจากศาสนาความเชื่อแบบดั้งเดิม ก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามาในดินแดนในแถบนี้ การนับถือผีปู่ย่าหรือการฟ้อนผีปู่ย่าที่เมืองลำปาง มีด้วยกันสองชนิด คือ ผีมด และผีเม็งมีบางตระกูลที่มีผู้นับถือต่างกันมาแต่งงาน ร่วมตระกูลหรือวงศ์นี้ ผีมดซอนเม็ง การนับถือผีปู่ย่าทุกประเภทต่างมีโครงสร้างของการแบ่งหน้าที่ภายในตระกูลหรือวงศ์ จำแนกได้ ดังนี้
............๑. ม้าขี่ บางครั้งเรียกว่า “ที่นั่ง” หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นคนทรงนั้นเอง ส่วนมาก “ม้าขี่” จะเป็นเพศหญิง
............๒. ควาญ คือผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติเจ้าปู่เจ้าย่า มีหน้าที่ช่วยกันแต่งองศ์ทรงเครื่อง จัดหาน้ำดื่ม น้ำมะพร้าว สุรา หรือเครื่องดื่ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ ตามแต่เจ้าจะเรียกหา เวลาเจ้าจะไปงานฟ้อนที่ผามอื่นๆ ควาญก็จะคอยติดตามทำหน้าที่หิ้วข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องแต่งกาย ถุงย่าม กระเป๋าถือ ร่วมยา ฯลฯ
............๓. กำลัง หมายถึงพลังของวงค์ตระกูลที่มีอยู่ในรูปของ กำลังกายหรือแรงงานจากผู้คน และกำลังทรัพย์ที่สามารถระดมได้จากตระกูล นั่นเอง คำว่า “กำลัง” มักใช้กับบรรดาลูกหลานเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่ต่างๆ เป็นต้นว่า ปลูกสร้างผาม แบกขนอุปกรณ์ ประกอบอาหาร ยกสำหรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ
............๔. ผีหรือเจ้ารับเชิญ ส่วนมากจะเป็นผีหรือเจ้าที่เคยฟ้อนร่วมผามกันมานาน หรืออาจสนิทชิดเชื้อกัน หรืออาจเป็นด้วยความคุ้นเคย กันของญาติพี่น้อง ซึ่งเรียกกันว่า “เติง (ถึง) กัน” ดังนั้นการฟ้อนผีในผามหนึ่งๆ นั้น จึงมีเจ้าปู่เจ้าย่าจากผามอื่นหรือตระกูลอื่นที่ “เติงกัน” มาเป็นแขกรับเชิญในงานเลี้ยงที่ลูกหลานเจ้าภาพจัดเลี้ยง เรียกกันทั่วไปว่า “มาม่วน ” กันไม่น้อยกว่า ๒๐ คนขึ้นไป
............ความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์หรือการมีข้อห้ามต่างๆ ตลอดจนมีระเบียบในการใช้เพลงหรือดนตรีประกอบพิธีกรรมที่มีความลงตัว จนดัดแปลงไม่ได้ เหล่านี้คือกรอบที่ป้องกันประเพณีนี้มิให้แผกเพี้ยนออกไป พิธีกรรมบางอย่างที่แสดงถึงความเก่าแก่ดั้งเดิม ของการมี ความเชื่อในเรื่องอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเคารพ กราบไหว้ ขอพึ่งพา บรรยากาศของพิธีกรรมบางขั้นตอนจึงแฝงด้วย ความลึกลับน่ากลัวมีความดิบปะปนเข้ามา และมีความสนุกม่วนกันทั้งผีและคนปะปนอยู่ในพิธีกรรม
............๑. ในการสร้างผามต้องระมัดระวังในการผูกโครงหลังคา เรียงหัวไม้ท้ายไม้ให้ไปในทางเดียวกัน
............๒. การประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงผี ห้ามหยิบเครื่องปรุงต่างๆ มากิน แม้แต่ การปรุงรสก็ห้ามชิม
............๓. ต้องแสดงถึงความเป็นผู้มีสัมมาคารวะ ต่อเจ้าปู่ย่าทั้งหลาย แม้ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ “ม้าขี่” ที่เป็นร่างทรงของ เจ้าปู่ย่าอาจเป็น ภรรยา พี่ น้อง ลูกหลาน หรือเพื่อนก็ตาม ห้ามทำเล่นหัวล้อเล่น หรือแสดงกิริยาไม่เป็นการเคารพ
............๔. บุคคลภายนอกเมื่อต้องการเข้าไปชม ควรขอนุญาตเจ้าของงานหรือ ญาติพี่น้องเสียก่อน
............๕. อุปกรณ์เครื่องใช้ในการสร้างผามเมื่อนำมาปลูกสร้างแล้ว จะเป็นของเจ้าปู่ย่า หากต้องการนำมาใช้เพื่อสร้างผามอีก หรือต้องการเอาไปทำประโยชน์ ต้องขออนุญาตเจ้าปู่ย่าเสียก่อน
บทบาทของความเชื่อผีปู่ย่าในระดับสังคมส่วนรวม
............๑. ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางเผ่าพันธุ์ของผู้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการมีความคิดในการยกย่อง ให้เกียรติและเห็นคุณค่า ต่อผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตระกูลหรือวงศ์ของตน เจ้าปู่ย่าจะมีความยินดีและชื่นชมในลูกสะใภ้และลูกเขยเป็นพิเศษ แม้จะต่างเผ่าพันธุ์ กันก็ตาม ทั้งนี้โดยมีความเชื่อว่า สะใภ้หรือฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแพร่พันธุ์และเป็นฝ่ายสืบทอดประเพณีสำหรับเขยที่เข้ามา ก็เท่ากับเป็นการเพิ่ม “กำลัง” ให้วงศ์ตระกูลได้แข็งแกร่งขึ้น หากมองในด้านการเมือง การปกครองแล้ว นับว่าเป็นการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ที่ดีอย่างหนึ่ง
............นอกจานี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการซื้อผี หรือซื้อเข้าผี เช่น กลุ่มชนบางกลุ่มหรือบางตระกูล เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสผีปู่ย่าผามใด ผามหนึ่ง ก็ขอซื้อ (ยกขันหรือบูชาครู) เพื่อขอเข้ามานับถือผีปู่ย่าด้วย พิจารณาอีกนัยหนึ่งก็คือการขอเข้ามาร่วมอยู่ในเผ่าพันธุ์หรือสังคมนั่งเอง สภาพบ้านเมืองในสมัยโบราณนั้น การยอมให้คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์อื่นมาร่วมผีเดียวกับตน จึงเป็น นโยบายทางการเมืองในการ เพิ่มกำลังผู้คนที่ลึกซึ้งยิ่งอย่างหนึ่ง
............๒. การมีส่วนทำให้สังคมเป็นเอกภาพ นอกจากภาพรวมที่ประเพณีฟ้อนผีได้หลอมรวมผู้คนให้เป็นพวกเดียวกัน นับถือผีเดียวกันแล้ว ยังเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้ผู้คนมาร่วมแรง ร่วมใจทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของงาน มีความปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน ได้มาสังสรรค์ สนุกสนานร่วมกัน ประการสำคัญคือเป็นการสร้างความรู้สึกว่านับถือผีเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า “เป็นผีเดียวกัน” ซึ่งเป็นผลส่งให้ เกิดความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในวงศ์ตระกูลหรือชุมชน
............๓. เป็นศูนย์กลางของที่พึ่งทางใจ เป็นความหวังและความอบอุ่นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถขอพึ่งพาเจ้าปู่ย่าได้ เช่นการทำนายทายทัก การเสกเป่า รดน้ำมนต์ ต่างๆ
............๔. บทบาทความเชื่อผีปู่ย่าในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรี การฟ้อนผีมด ผีเม็ง ที่เคร่งในขนบประเพณีนั้น จะห้ามใช้ดนตรี ต่างวัฒนธรรมเข้ามาบรรเลงในผาม แม้แต่วงป้าด ก็จะต้องใช้แบบแผนการบรรเลงแบบลำปาง หากเล่นผิดแบบแผน เช่น สำเนียงและสำนวน ดนตรี ผิดจากที่คุ้นเคย ผีจะไม่เข้าหรือไม่สามารถทำการทรงได้ หรือทรงได้แล้ว อาจฟ้อนไม่ได้เป็นต้น
............ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดนตรีประกอบการฟ้อนผีในเมืองลำปาง จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเปลี่ยนแปลงขนบประเพณี หรือแบบแผนในการ ดนตรีให้แปลกออกไปจากเดิม ดนตรีปี่พาทย์หรือวงป้าดเมืองลำปาง จึงมีรายละเอียดหลายอย่างที่แสดงถึงความเป็นดนตรีแบบโบราณไว้ได้

ที่มา : kanchanapisek.or.th
ภาพประกอบจาก internet

โดย รัตนา เกิดเวียงใหม่ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น