วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การตานขันข้าว

การตานขันข้าว เป็นประเพณีหนึ่งของคนในภาคเหนือที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน การตานขันข้าวคือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว หรืออาจจะเป็นการทำบุญให้ตนเองเพื่อเป็นการสะสมบุญในชาติหน้าก็ได้ การตานขันข้าวเป็นการถวายภัตตาหาร หรือถวายสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้ ส่วนใหญ่นิยมทำกันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาฬาหบูชา วันเข้าพรรษา วันสงกรานต์ วันคล้ายวันเกิด ซึ่งในวันดังกล่าวชาวบ้านจะนำภัตตาหาร ไปถวายพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่ ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือเจ้ากรรมนายเวร ชาวบ้านเชื่อว่าการตานขันข้าวเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตาย จะช่วยให้วิญญาณของผู้ตายมีอาหารกิน และมีสิ่งของเครื่องใช้ไม่อดอยาก หรือเป็นการทำบุญล่วงหน้าให้กับตนเองในชาติหน้า เพื่อให้มีกิน มีใช้ มีความเป็นอยู่สุขสบายในชาติหน้า
..............สำหรับสิ่งของที่เราจะนำไปใส่ในขันข้าวนั้น ถ้าอุทิศไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว ๓ คน เราก็จัดแบ่งอาหารออกเป็น ๓ ส่วน นอกจากนี้ ต้องเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน ขวดน้ำสำหรับกรวดน้ำ เขียนชื่อของ พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วให้พระสงฆ์อ่าน เพื่อให้คนที่เราอุทิศส่วนบุญกุศลได้รับส่วนบุญกุศลในครั้งนี้ ข้าว ๑ สำรับ สำหรับคนที่เราอุทิศไปให้ ๑ คน โดยเราจะนำขันข้าวที่เตรียมไว้ไปถวายพระสงฆ์ในตอนเช้าก่อนพระฉันท์ภัตตาหาร หลังจากพระสงฆ์ รับประเคนขันข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้ศีลให้พรอุทิศส่วนกุศลแล้วเราก็จะกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
.............การตานขันข้าวในปัจจุบันนี้ มีความแตกต่างไปจากอดีต ชาวบ้านไม่น้ำยมที่จะแบ่งอาหารออกเป็นส่วน ๆ แต่จะนำใส่ภาชนะที่มิดชิด เช่น ปิ่นโต ไปถวายพระสงฆ์ เนื่องจากทำให้มีความสะดวก ซึ่งการตานขันข้าวนั้นถือว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวภาคเหนือที่ทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว และจะเป็นการที่ทำให้พระสงฆ์ได้มีสิ่งของสำหรับอุปโภคและบริโภค ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป ดังนั้น เราควรอนุรักษ์รักษาประเพณีการตานขันข้าวให้สืบทอดต่อไปเพื่อไม่ให้สูญหาย


โดย จิราพร มณฑาทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น