วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เกร็ด.....จากการไปงานศพ

…....สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป……
.................อะไรหนอ สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป ประโยคนี้เคยได้ยินบ่อย ๆ เชื่อว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินเช่นกัน แต่ไม่รู้เลยว่าหมายถึงอะไร (ผู้เขียนไม่รู้นะ....ท่านอาจจะรู้ก็ได้) เคยคิดว่าหมายถึง พิธีแห่ศพหรือขบวนแห่ศพอะไรไปโน่น..... ก็เพิ่งได้คำตอบแบบกระจ่างแจ้ง ชัดเจนและเข้าใจ เมื่อไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพของคุณแม่เพื่อนร่วมงาน เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง พระท่านเทศน์เรื่องนี้พอดี ปริศนาธรรมอันนี้ก็ได้เฉลยว่า สี่คนหาม หมายถึง ตัวเรานี่เองที่ประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุดิน หมายถึง หนัง ขน เล็บ กระดูก เนื้อ ตับไตไส้พุงทั้งหลายนั่นแหละ
ธาตุน้ำ หมายถึงน้ำตา น้ำลาย น้ำเหลือง เลือด เป็นต้น
ธาตุลม หมายถึง ลมหายใจ และลมเข้า ออกทุกทวาร
ธาตุไฟ หมายถึง ความร้อนหรืออุณหภูมิในร่างกาย
มนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะธาตุทั้ง ๔ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง เราก็จะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น คำว่า สี่คนหาม ก็หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่พยุงร่างกายเราไว้ให้มีชีวิตอยู่ประกอบขึ้นเป็นตัวตน บุคคล และเคลื่อนไหวได้ ดังที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ นี่คือ ความหมายของคำว่า “ สี่คนหาม ” สามคนแห่ สามคนนั้นก็คือ ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ หมายถึง อำนาจในธรรมชาติที่ครอบงำบังคับให้สังขาร ร่างกาย ชีวิต และทุกสิ่ง ทุกอย่างต้องมีอันเป็นไป กล่าวคือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่เที่ยงแท้ ไม่มีใครและไม่มีอะไรในโลกนี้หรือที่ใดใด จะเที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง คือ สวยงาม ดี แข็งแรง คงสภาพอยู่เหมือนเดิม ต้องแปรเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เมื่อสาวมีความสดใสสวยงาม เต่งตึง ต่อเมื่อแก่ลง ก็ทรุดโทรมเหี่ยวย่น เพราะทุกอย่างเป็น อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตาความมิใช่ตัวตนของเรานั่นเอง หนึ่งคนนั่งแคร่ ซึ่งหมายถึง จิต หรือ วิญญาณ จิต นั่งแคร่ คือ อัตภาพ สังขาร ร่างกาย เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนืออัตภาพ ธรรมชาติที่รู้จักคิดเรียกว่า จิต จิตนี้อาศัยอัตภาพร่างกายอยู่ เพราะจิตเป็นนามธรรม ไม่กินเนื้อที่ เข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทุกส่วน ถ้าจิตไม่เข้าไปสอดแทรกในหน้าที่ต่างๆ ของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะต้องมองรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ ก็จะเป็นผลร้ายคือ มองรูปไม่เห็น ฟังเสียงไม่ได้ยิน ดมกลิ่น ไม่รู้หอมเหม็น ลิ้นรสไม่รู้รสชาติ ถูกต้องอะไรก็เฉยๆ เหมือนศพที่ถูกมนุษย์มีชีวิตจับต้อง สองคนพาไป สองคน หมายถึง กรรม ๒ ประเภท ได้แก่ กรรมดีอันเป็นกุศลหรือบุญ กรรมชั่วอันเป็นอกุศล หรือบาป เพราะบุคคลเกิดมาแล้วถึงจะมั่งมีศรีสุข มากมายด้วยทรัพย์ศฤงคาร เมื่อตายลง เขาก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย สิ่งที่จะเอาไปได้จริง ๆ ก็คือบุญกับบาป ซึ่งจะติดตามจิตหรือวิญญาณ ไม่ใช่ติดอยู่ที่กายหยาบ ถึงกายจะสลายบาปบุญก็ไม่สูญสลายตามร่างกาย บาปย่อมนำสัตว์และคนผู้กระทำให้ไปสู่อบายทุคตินรก ส่วนบุญก็ย่อมนำสัตว์และคนผู้กระทำให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ นี่คือ ความหมาย ของคำว่า “สองคนพาไป”
สรุปว่า มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน วัฏสงสาร ไม่จบไม่สิ้น เพราะว่ามีสี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไปนั่นเองแหละค่ะ...

โดย อรัญญา ฟูคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น