วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

อร่อยๆกับขนมล้านนา

สวัสดีครับพบกันอีกครั้งแต่ครั้งนี้เรามาอร่อยกับการขนมทางล้านนาที่มีแยะมากมายแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันวันนี้ผมขอแนะนำขนมขบเคี้ยว ที่นิยมทานกันในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง งานบวชลูกแก้ว งานปอยหลวง ก็ คือ “ข้าวแคบ” ครับมีลักษณ์คล้ายกับข้าวเกรียบว่าว แต่แผ่นเล็กกว่าและมีรสเค็มเล็กน้อย แต่ถ้าจะเป็นข้าวเกรียบว่าวทางเหนือเรียกกว่า “ข้าวควบ” แต่เรายังไม่คุยกันในครั้งนี้
“ข้าวแคบ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ "ข้าวเกรียบที่มีรสเค็ม ๆ อย่างข้าวเกรียบกุ้ง" เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ "ข้าวแคบ"เป็นของกินชนิดหนึ่งที่ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า หรือข้าวเหนียว เป็นแผ่นตากให้แห้ง
“ข้าวแคบ มีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้า จะเป็นแผ่นบางๆ รสจืด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖ นิ้ว อีกชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวเป็นแผ่นหนากว่ามีรสเค็มและมีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว ปัจจุบันผู้ทำข้าวแคบบางคนอาจปรุงรส เผ็ด เค็ม เปรี้ยว หรือ หวานเล็กน้อย ลงไปก่อนที่จะทำให้สุกเป็นแผ่น


วิธีทำข้าวแคบข้าวเหนียว
๑. ล้างข้าวสารเหนียวให้สะอาด แช่ไว้ 1 คืน๒. ล้างข้าวสารเหนียวที่แช่แล้วอีกครั้งหนึ่ง และนำมาโม่ด้วยโม่หิน จะได้แป้งสำหรับทำข้าวแคบ
๓. ผสมงาดำและเกลือลงในน้ำแป้ง คนให้เกลือละลาย
๔. การเตรียมเตาและหม้อ(ถ้าเป็นหม้อดินจะดีกว่า) ตั้งเตา(เตาถ่ายจะดีมาก)ตั้งหม้อใส่น้ำ วางหม้อ เติมน้ำ ปากหม้อขึงผ้าขาวบางให้ตึง ตั้งไฟจนน้ำเดือดให้มีไอน้ำผ่านขึ้นมา เจาะรูผ้าขาวบางปากหม้อประมาณ ๒ นิ้ว เพื่อให้ไอน้ำผ่าน
๕. ละเลงแป้งลงบนผ้าเป็นแผ่นวงกลมตามที่ต้องการ พอแป้งสุก ใช้ไม้พายช้อนขึ้น
๖. วางแป้งลงบนแผ่นหญ้าคา ทำต่อเรื่อยๆ จนเต็ม ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 2 วัน
การทานข้าวแคบ มีวิธีการที่ง่าย ๆ ด้วยการนำข้าวแคบที่ทำเสร็จแล้ว มาย่างไฟอ่อน ๆ จนเหลืองพองาม กินเป็นอาหารว่างหรือรองท้องก่อนถึงเวลาอาหารมื้อหลัก บางแห่งเข้าอาจจะไม่ย่างแต่นำไปทอดก็ได้แล้วแต่สะดวกนะครับ
เคล็ดไม่ลับในการปรุง ๑. การใช้แผ่นหญ้าคา วางข้าวแคบที่ละเลงสุกใหม่ ทำให้แป้งข้าวแคบแกะออกได้ง่าย๒. ข้าวเหนียวที่ใช้เป็นข้าวเม็ดหัก หรือเรียกว่า “ข้าวต่อน” จะทำให้โม่ละเอียดง่าย
เกร็ดความรู้ภูมิปัญญา
สำหรับผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงอยู่ไฟจะนิยมกินข้าวแคบเป็นอาหาร หลักด้วยมีความเชื่อว่า ข้าวแคบเมื่อทานแล้วจะไม่เกิดผลข้างเคียงในขณะอยู่ไฟ
ครับทั้งหมดก็เป็นเรื่องราวของ“ข้าวแคบ”ขนมอาหารว่างที่ของล้านนาครับ ครั้งต่อไปจะเป็นอะไรโปรดติดตามกันต่อนะครับ
สวัสดีครับ
เขียนโดย นายชิตพร พูลประสิทธิ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
แหล่องอ้างอิง
รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ
เว็บไซต์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เว็บไซต์ของศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น