กาลามสูตร เป็นพระสูตรสำคัญสูตรหนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ จากนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน แท้ที่จริง ในพระไตรปิฎก ชื่อกาลามสูตร ไม่ได้มีปรากฏอยู่ หากมีแต่ชื่อว่า เกสปุตตสูตร ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกาลามะ ซึ่งอยู่ในเกสปุตตนิคม เพราะฉะนั้นจึงตั้งชื่อพระสูตรนี้ ตามชื่อของนิคมนี้ว่า เกสปุตตสูตรแต่คนที่อยู่ในนิคม หรือ ตำบลนี้เป็นเชื้อสาย หรือมีสกุลเดียวกัน คือ สกุลกาลามะ เขาจึงเรียกประชาชนเหล่านี้ว่ากาลามชน ซึ่งมีโคตรอันเดียวกัน สกุลเดียวกัน คือ กาลามโคตรเพราะฉะนั้นเขาจึงเรียกพระสูตรนี้ว่า เกสปุตตสูตร แต่ชาวโลกทั่วไป มักจะเรียกพระสูตรนี้ว่า กาลามสูตร เพราะรู้สึกว่าจะเรียกได้ง่ายกว่า พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ไม่ยาว แต่มีใจความลึกซึ้งน่าคิดประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งผู้นับถือ พระพุทธศาสนาหรือผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรจะได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้เหตุผลตามหลัก วิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับกฎทางวิทยาศาสตร์ พระสูตรนี้มีความเป็นมาโดยย่อว่าในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเกสปุตตนิคม อันเป็นที่ อยู่ของพวกชาวกาลามโคตรหรือกาลามชน ชาวกาลามชนในเกสปุตตนิคม ทราบข่าวมาก่อนแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังอย่างไรก่อนที่พระองค์จะได้เสด็จ มายังหมู่บ้านของพวกเขา จึงต่างก็พากันไปเฝ้าเป็น จำนวนมาก เพราะชื่อเสียงของพระพุทธเจ้าดังก้องไปว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทธโธ" เป็นต้น ดังที่เราสวดสรรเสริญกันในบทสวดมนต์ ซึ่งปรากฏมากในพระสูตรต่าง ๆว่า "แม้เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็น พระอรหันต์, เป็นผู้ตรัสรู้ เองโดยชอบ, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ, เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้รู้ เป็นผู้ เบิกบานเป็นผู้จำแนกธรรม เป็นต้น" เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ เกสปุตตนิคมนั้น มีประชาชนมาเฝ้ากันมากคนอินเดียมีเรื่อง แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักบวชนับถือลัทธินิกายใด หรือว่าพวกเขาจะไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตามแต่พวกเขา ก็อยากจะฟังความรู้ความเข้าใจ และต้องการปัญญา ดังนั้น พวกที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งนี้ เป็นพวกที่ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาปก็มี พวกที่ไม่นับถือ พุทธศาสนาก็มีพวก ที่สงสัยอยู่ก็มี พวกที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งอยู่แล้วก็มี พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ๑๐ ประการ
- มา อนุสฺสวเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
- มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
- มา อิติกิราย อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
- มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
- มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
- มา นยเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
- มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
- มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
- มา ภพฺพรูปตา อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
- มา สมโณ โน ครูติ อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุ ๑๐ ประการนี้
ที่มา :หนังสือความดีเด่นของกาลามสูตร และ คำสดุดีพระพุทธศาสนาของนักปราชญ์ ชาวตะวันตก โดย พระธรรมวิสุทธิกวี วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร
จิราภรณ์ กาญจนา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น