---------------------------------------
ท่านทราบหรือไม่ว่า นอกจากการแบ่งประเทศไทยออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ตามทิศที่ตั้งแล้ว ยังมีการแยกย่อยซอยละเอียดออกไปอีกมากมา เช่นจังหวัดลำปางของเรา อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ยังได้มีการซอยย่อยภาคเหนือออกตามเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทยออกเป็น ๔ ประเภท คือ ภาคเหนือตอนบน ๑ ภาคเหนือตอนบน ๒ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ภาคเหนือตอนล่าง ๒ และจังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มภาคเหนือตอนบน ๑ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน
และที่จะเล่าให้ฟังนี้ก็คงจะเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๑ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย
๑. จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เป็นดอกทองกวาว มีลักษณะทั่วไป คือเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะกลม หรือเป็นทรงกระบอก ใบประกอบมี ๓ ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ใบหนาและมีขน ใต้ใบสีเขียวอมเทา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง คล้ายดอกถั่ว สีแสดแดงหรือเหลือง มีขน ออกดอก เดือนธันวาคม–มีนาคม ผลเป็นฝักแบน มีขนนุ่ม เมล็ด ๑ เมล็ดอยู่ที่ปลายฝัก การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และสภาพที่เหมาะสมคือการปลูกในดินร่วนซุย และมีแสงแดดจัด
๒. จังหวัดลำปาง เป็นดอกธรรมรักษา มีลักษณะทั่วไป คือเป็นพรรณไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ลักษณะคล้ายกับกล้วย ลำต้นสูงประมาณ ๑ – ๒ เมตร เจริญเติบโตโดยการแตกหน่อออกมาเป็นกอ ลักษณะใบคล้ายใบกล้วย เรียงสลับกัน มีสีเขียว ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดของใบ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น ลักษณะช่อดอกตั้งและห้อยลงแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ในแต่ละช่อดอกมี ๔ – ๘ ดอก ดอกมีสีส้ม แดง เหลือง และชมพู ผลคือส่วนของดอกเมื่อแก่ก็จะกลายเป็นเมล็ด การขยายพันธุ์โดยการ เพาะเมล็ด, แยกกอ, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับสภาพที่เหมาะสมในการปลูกคือสภาพดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย แสงแดดรำไร จนถึงแสงแดดจัด
๓. จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นดอกบัวตอง มีลักษณะทั่วไป คือเป็นไม้ดอกที่มีอายุยืนยาวหลายปีสามารถสูงได้ถึง ๕ เมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง มีสีเหลืองคล้าย ดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบดอกเรียวมีประมาณ 12–14 กลีบ ดอกวงในสีเหลืองส้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบบัวตองเป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือแกมขอบขนาน มีขนขึ้นเล็กน้อยประปราย ปลายใบเว้าลึก ๓ – ๕ แฉก การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และจะอยู่ได้ดีในสภาพที่แสดงแดดจัด
มันทนา กันสิทธิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
(ที่มา : http://www.panmai.com/PvFlower/Pvflower.htm)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น