วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

เตือนภัย…..โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

โรคหัวใจและหลอดเลือดครองสถิติ ๑ ใน ๓ อันดับโรคร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เตือนคนเมืองวัย ๔๐ ปีขึ้นไป กินดีอยู่ดี ทำงานนั่งโต๊ะ ขาดการออกกำลังกาย เครียด โกรธง่าย โอกาสเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสูงกว่าผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร โรคหัวใจขาดเลือดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการ มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัว ใจในขณะนั้น สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใ จแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือไม่รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด อาการที่พบมักแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เจ็บกลางหน้าอก บริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแบบจุกแน่น คล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ มักเจ็บร้าวไปที่คอ ขากรรไกร หรือไหล่ซ้าย โดยมากมักจะมีอาการขณะออกกำลังกายหรือทำงาน และจะเป็นอยู่นานครั้งละ ๒ - ๓ นาที อาการจะดีขึ้นถ้าได้หยุดพักหรือ อมยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บางรายอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาหารไม่ย่อย และบางรายอาจมีอาการใจสั่นหอบเหนื่อยร่วมด้วย ปัจจุบันมีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาด เลือดที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโดยการเดินออกกำลังกายบนสายพาน หรือการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ การฉีดสีดูตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ หลังจากทราบผลแล้วแพทย์จะประเมินภาวะความรุนแรงของโรคและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่ ๑. การให้ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งชนิดอมใต้ลิ้น ยารับประทาน และการให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ ๒. การให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกร็ดเลือดแข็งตัว เช่น แอสไพริน ๓. การให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และลดการใช้ออกซิเจน ในเบื้องต้น การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ควบคู่ไปกับการรักษาทางยาส่วนใหญ่มักได้ผลดี แต่ในกรณีที่มีภาวะรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเดินทางอ้อมผ่านจุดที่อุดตันโดยใช้เส้น เลือดที่บริเวณแขนหรือ ขา ๑๐ วิธี ที่ควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ดังนี้
๑. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
๒. รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๒-๓ ลิตร
๓. รับประทานอาหารแต่พออิ่ม และควรพักหลังอาหารประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง
๔. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ การเดิน เริ่มโดยการเดินช้า ๆ ก่อน
แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังของตนเอง
๕. ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน และหาวิธีลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น การดูเกมการแข่งขันที่เร้าใจ หรือทำกิจกรรมโลดโผน เป็นต้น
๖. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด
๗. งดดื่มสุรา ชา กาแฟ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
๘. หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนานๆ
๙. เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมนั้นๆ ทันที และอมยาใต้ลิ้น ๑ เม็ด ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลงให้อมยาใต้ลิ้นซ้ำได้อีก ๑ เม็ด ห่างกัน ๕ นาที แต่ไม่ควรเกิน ๓ เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นใน ๑๕-๒๐ นาที ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
๑๐. การมีเพศสัมพันธ์ไม่ควรหักโหม ควรอมยาใต้ลิ้นก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีอาการใจสั่น หายใจขัด หรือเจ็บหน้าอกนานเกิน ๑๕ นาทีหลังมีเพศสัมพันธ์ควรปรึกษาแพทย์
วิธีป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ
ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมัน กะทิ รวมทั้งไข่แดง เพราะจะทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือด และก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมาได้ ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยมาก ๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง นานครั้งละ ๒๐ นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาและความถี่ในการออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว ซึ่งเป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน และทำสมาธิหรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบผ่อนคลาย ก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ได้ รวมถึงควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน ์ เช่น งดขนมหวาน ผลไม้รสหวานจัด เพราะหัวใจของคนอ้วนต้องทำงานมากกว่าปกติ และควรมีการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
------------------------------
ทินกร สุริกัน ผอ.กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
ขอขอบคุณ www.junjaowka.com ภัยคนเมือง..........หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น