วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

“คนกับควาย……..”

“ควาย” คำ ๆ นี้อยู่คู่กับบรรพชนคนไทยแท้มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ น่าแปลกใจจังว่า ทำไมถึงได้เอาคำว่าควาย มาเป็นคำด่าคนได้ ทั้ง ๆ ที่ควายเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในสมัยสงครามควายก็ยังมีโอกาสได้ไปช่วยกอบกู้ชาติด้วยเช่นกัน เมื่อพม่ารุกรานนายทองเหม็นแห่งหมู่บ้านบางระจันก็ขี่ควายออกไปรบ นั่นไง ....ประโยชน์ของควายเห็น ๆ นอกจากงานประจำคือทำนา และงานรอง ก็ยังเป็นพาหนะ ให้เจ้าของได้อยู่สุขสบายขึ้น ควายถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับงานเกษตรกรรมของประเทศไทยมากที่สุด เพราะชาวนานิยม เลี้ยงควายเป็นแรงงานเพื่อไว้ไถนา ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ควายจึงมีประโยชน์หลายประการ สัตว์ที่มีบุญคุณที่อยู่คู่บ้าน คู่เมืองของคนไทย ก็คือ ช้าง ม้า วัว ควาย สัตว์เหล่านี้ได้ใช้ชีวิตอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทย คำด่าทอเปรียบเทียบว่าโง่เหมือนควาย ซึ่งหากพิจารณากันจริง ๆ แล้วคงไม่สามารถที่จะเอาความโง่เขลาของคนไปเปรียบเทียบกับควาย ได้ เพราะความโง่ของใครก็เป็นคุณสมบัติของคน ๆ นั้น เกี่ยวกับควายตรงไหน... ใครว่าควายโง่ ขอเถียง เพราะเราบอกเขาว่าซ้าย ขวา หยุด (ยอ ๆ ) เขาก็เข้าใจและทำตาม ถึงแม้จะดื้อบ้างก็เถอะ ภาพในอดีตของชาวนาไทยที่กำลังจูงควายเดินอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ภาพของควายที่เทียมเกวียนบรรทุกข้าว และสัมภาระในการทำนา เสียงกระดิ่งแขวนคอควาย ยังคงติดตาตรึงใจของคนไทยชนบทอย่างดิฉันอยู่มิรู้ลืม ด้วยเพราะความผูกพันระหว่างคนกับควายนั้นลึกซึ้งเกินกว่าจะหาคำใดมาเปรียบเทียบได้ ช่วงชีวิตที่คนกับควายเคยกินอยู่ดูแลซึ่งกันและกันนั้น เป็นวิถีชีวิตอันเป็นรากเหง้าของคนไทยมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานทางโบราณคดีของไทยที่บ้านเชียงบอกไว้ว่า ชาวนาไทยนำควายมาเลี้ยงตั้งแต่เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ชาวนาไทยกับควายจึงมีประวัติศาสตร์ความผูกพันที่ยาวนาน จนแทบจะกล่าวได้ว่าควายนั้นมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับชาวนาเกินกว่าที่เรียกว่าสัตว์เลี้ยงได้ ในอดีตควายถูกนำมาใช้งานในภาคการเกษตร คือทำไร่ ทำนา อันเป็นภาพที่เราชินตาเมื่อยามที่มองออกไปตามท้องนา จนในระยะหลังเมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากยิ่งขึ้น การทำนาก็ได้เปลี่ยนจากการที่เคยใช้ควายมาไถนาเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น คือ รถไถเดินตาม หรือที่รู้จักกันว่า "ควายเหล็ก" ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำนาเพียงเพราะว่ามีความรวดเร็วและสะดวก ควายจากที่เคยเดินอยู่ตามท้องไร่ท้องนากลับกลายเป็นสัตว์ที่ถูกคนมองข้าม จนในระยะหลังบทบาทของควายแทบจะไม่ปรากฏอยู่ในภาคการเกษตรของชาวนาอีกเลย เมื่อควายเกิดการว่างงานขึ้น จึงทำให้ควายจำนวนไม่น้อยได้ผันชีวิตจากท้องไร่นา มาอยู่ในโรงฆ่าสัตว์.......น่าอเนจอนาถใจไหมคะ
ในสมัยก่อนจะไม่มีการฆ่าควายเพื่อกินเนื้อเป็นอาหาร ทุกบ้านจะเลี้ยงดูควายจนมันแก่เฒ่าและปล่อยให้ตายเอง จึงจะยอมชำแหละเนื้อมาเป็นอาหาร ที่ชาวบ้านเรียกว่า “จิ้นควายเฒ่า” แต่เก็บเขาเอาไว้เป็นที่ระลึก แขวนไว้ตามเสาหรือฝาบ้าน ว่าได้เคยช่วยเหลืองานมา ตลอดจนเป็นที่แขวนหมวก และจดจำชื่อไว้ว่าเป็นเขาของควายตัวไหน และเมื่อเสร็จสิ้นฤดูทำนา ก็ยังมีการทำขวัญควาย หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า “สู่ขวัญควาย” เป็นการเตือนสติ เตือนใจ ให้คนมีความกตัญญูกตเวทีรำลึกถึงบุญคุณ ของผู้ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ตน ว่าเมื่อได้รับประโยชน์จากผู้อื่นแล้ว ก็มาแสดงการ ตอบแทนบุญคุณที่ผู้อื่นได้ทำแก่ตน อย่างเช่น "ควาย" ซึ่งคนได้ใช้แรงงานในการไถคราด พลิกแผ่นดิน อันเป็นงานหนักให้ เพื่อเราจะได้หว่าน เพาะปลูกข้าวเป็นอาหารเลี้ยงชีพ ซึ่งควายผู้ทำงานหนักก็บริโภคเพียงฟางข้าวเท่านั้น
ปัจจุบันโลกเจริญก้าวหน้า มีวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สังคมก็เปลี่ยนแปลง รวมทั้งสังคมเกษตรในประเทศไทยจากที่เคยใช้ควายไถนา คราดนา ลากเกวียน นวดข้าว เปลี่ยนเป็น เครื่องจักร เครื่องนวดข้าว บทบาทของควายภาคเกษตรหมดลงโดยสิ้นเชิง “น่าใจใจหาย” บทบาทใหม่ของควายล่ะ คืออะไร…...เป็นอาหารกระนั้นหรือ......จากสัตว์ที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ ช่วยเหลืองานทุกครัวเรือนและเราก็เอาใจใส่ เลี้ยงดูมันเป็นอย่างดี สุมไฟให้เพื่อป้องกันยุง หาหญ้า หาน้ำ เพื่อเลี้ยงดู อยู่กินอย่างเป็นเพื่อน ปัจจุบันควายถูกเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ คือเลี้ยงเพื่อส่งขายให้กับโรงฆ่าสัตว์ไม่มีการชะลอหรือ ละเว้น ควายคงหมดจากประเทศไทยแน่นอน และต่อไปข้างหน้าเด็กรุ่นหลังคงได้รู้จักควายจาก อนุสาวรีย์ หรือรูปภาพเท่านั้น……
---------------------------------
อรัญญา ฟูคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
แหล่งอ้างอิง : หนังสือเรื่อง ควาย , ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง สู่ขวัญควาย
ภาพประกอบ : oknation.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น