“บ่าขี้เบ้า” เป็นตัวอ่อนระยะตัวหนอนของด้วงปีกแข็ง หรือ “แมงจุ่งจี้” ที่อาศัยหากินตาม กองขี้ควาย ชาวบ้านเรียกว่า จุ่งจี้ขี้ควาย หรือจุ่งจี้ซั่ว ตัวอ่อนของด้วงปีกแข็งนี้จะเกิดจากไข่ที่แม่ด้วงไข่ไว้ โดยที่แม่ด้วงจะขุดขี้ควายสดออกมาเป็นก้อนกลมๆ วางไข่ไว้ในก้อนขี้ควายแล้วกลิ้งไปยังหลุมที่จะเอาไข่ฝังไว้ ขณะที่กลิ้งไปดินก็ จะพอกขี้ควายหนาขึ้นเป็นก้อนกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ – ๓.๕ นิ้ว ในโพรง ที่ฝังไข่หรือก้อน บ่าขี้เบ้าโพรงหนึ่ง ๆ จะมีบ่าขี้เบ้าประมาณ ๒๐ – ๓๐ ลูก ลักษณะของหน้าดินที่มีไข่ด้วง จะเป็นขุยดิน พูนพองคล้ายหลังเต่า เอามือทุบดังปุ ๆ กลวง ๆ เมื่อขุดลงไปจะพบว่ามีโพรง ชาวบ้าน เรียกว่าเป็นโพ้งและจะมีบ่าขี้เบ้าก้อนกลมกองปนอยู่กับขุยดินภายในหลุม เมื่อนำมาผ่าดูภายในจะมี ตัวอ่อนด้วงระยะที่เป็นตัวหนอนมีสีขาวขดอยู่ภายใน โดยที่ตัวอ่อนนี้จะกินขี้ควายเป็นอาหารจนหมด ก็จะเป็นดักแด้ฟักตัวรอให้ฝนตกก็จะเจาะเปลือกขี้เบ้าบินออกมาหากินภายนอกแล้วสืบพันธุ์กลิ้ง ขี้ควายวางไข่ต่อไปอีกเป็นวัฏจักร
เรามักพบบ่าขี้เบ้าตามบริเวณใต้ต้นไม้ชายทุ่งที่ใกล้ ๆ กับคอกวัวคอกควาย ช่วงเวลาที่นิยมขุดบ่าขี้เบ้าก็คือ ช่วงต้นฤดูร้อนที่มีฝนตกบ้าง และผักชะอมจะเริ่มแตกยอดอ่อน ชาวบ้านก็จะหาขุยบ่าขี้เบ้า เพื่อขุดเอาตัวอ่อนมาแกงใส่ยอดผักชะอมกินกัน ซึ่งบ่าขี้เบ้านี้เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงชนิดหนึ่ง เป็นไงคะ...นึกอยากเห็นและอยากลองชิมดูบ้างหรือยัง.....นี่ไงคะ จุงจี้และบ่าขี้เบ้า
............ในปัจจุบันบ่าขี้เบ้าหากินยากเพราะการเลี้ยงควายลดลง ด้วงได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงล้มตายไปมาก สิ่งเหล่านี้ก็คงเป็นเพียงความทรงจำในอดีต ซึ่งชีวิตของเกษตรกรไทยในอดีตมีความผูกพันอยู่กับท้องนาท้องไร่โดยมีไอ้ทุยเป็นเพื่อนยาก ภาพในอดีตของชาวนาไทยที่จูงควายเดินอยู่ตามท้องไร่ท้องนายังคงติดตา ตรึงใจของคนไทยชนบทอยู่อย่างภาคภูมิใจไม่รู้ลืม…..ครับ
............ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากกลุ่มวิจัยและพัฒนากระบือ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์..........
โดย อรัญญา ฟูคำ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น