วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โรคลมแดด หรือ “ช็อคแดด”

............โรคลมแดด หรือที่การแพทย์เรียกว่า ฮีต สโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ โรคลมแดดเกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลัง หรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน อาจเกิดขึ้นได้แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง เป็นความผิดปกติที่รุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไตรวมทั้งสูญเสียวามสามารถ ในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน ๔๐ องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต ๑๗ - ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อ หรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อก ผิวหนังแห้งและร้อน ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว หมดสติ เกร็ง ชัก โดยกลไก
การทำงานของร่างกายหลังจากที่ได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ
..............สัญญาณสำคัญของโรคนี้ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ต่างจากการเพลียแดด หรือเป็น ลมแดดทั่วไป ที่จะพบมีเหงื่อออกด้วยเมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้
..............ในการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นำผู้ที่มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำ เปล่าธรรมดามาก ๆ

.... ขอขอบคุณข้อมูลดีมีประโยชน์จาก Arunsawat.com…..
โดย รัตนา เกิดเวียงใหม่ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น