วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บังสุกุล

""""""""""บังสุกุล แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น, กองฝุ่น, คลุกฝุ่น, เปื้อนฝุ่น เป็นคำใช้เรียกผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดไว้บนด้ายสายสิญจน์ หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล โดยเรียกกริยาที่พระชักผ้าหรือพิจารณาผ้าเช่นนั้นว่า ชักผ้าบังสุกุล หรือ พิจารณาผ้าบังสุกุล (ดูมาติกา-บังสุกุล)
คำว่า "บังสุกุล" นั้น มาจากคำภาษาบาลีว่า ปํสุ (อ่านว่า ปัง-สุ) แปลว่า ฝุ่น และคำว่า กุล (อ่านว่า กุ-ละ) แปลว่า เปื้อน, คลุก สมาสคำทั้งสองเข้าด้วยบทวิเคราะห์เป็น ปํสุกุล (อ่านว่า ปัง-สุ-กุ-ละ) แปลว่า ผ้าที่เปื้อนฝุ่น เมื่อมาเป็นคำไทย เปลี่ยน "ปอ ปลา" เป็น "บอ ใบไม้" และปรับเสียงเป็นรูปแบบภาษาไทยที่มีตัวสะกด เป็น บังสุกุล อ่านว่า บัง-สุ-กุน ดังนั้นคำว่า "บังสุกุล" จึงต้องเขียนว่า บังสุกุล เท่านั้น ไม่สามารถเขียนเป็นอย่างอื่นได้ หากเขียนเป็น บังสกุล ถือเป็นคำที่เขียนผิด อันเกิดจากการเทียบเคียงผิดกับคำว่า สกุล ที่หมายถึง ตระกูลวงศ์
ในสมัยพุทธกาลภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะหรือจากป่าช้ามาทำจีวรใช้ ผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเปื้อนฝุ่นหรือสกปรก จึงเรียกว่าบังสุกุล (ดูผ้าป่า) ปัจจุบันมักเขียนหรือพูดผิดเพี้ยนไปว่า บังสกุล ด้วยออกเสียงง่ายกว่า
ความเป็นมาของผ้าบังสุกุล
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับผ้านุ่งห่มจากฆราวาส แต่ให้พระภิกษุเก็บผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามร้านตลาดหรือผ้าห่อศพที่ไม่มีผู้ใดปรารถนา เพราะสกปรก มาซักล้างให้สะอาด แล้วเก็บไว้เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งที่ชำรุดเช่น ผ้านุ่งหรืออันตรวาสกหรือผ้าสบง ผ้าห่มหรือผ้าจีวรหรือผ้าอุตตราสงค์ หรือผ้าห่มซ้อนหรือสังฆาฎิ ในเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ต่อมา จึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้รับผ้าจากฆราวาสได้ เพื่อเจริญศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาผู้เลื่อมใส และบรรเทาความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ในการแสวงหาผ้าอีกทางหนึ่งด้วย

โดย....อาจารย์วีรพันธ์ นันเพ็ญ(หนานนันท์ เวียงละกอน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น