วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พิธีสืบชะตา

พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวล้านนาที่เชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย พิธีสืบชะตาของจังหวัดน่านได้ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน ชาวบ้านในทุกหมู่บ้านต่างรู้จักและยึดมั่นปฏิบัติกันอยู่ เพราะเชื่อว่าทุกข์ภัยทั้งหลายที่จะเกิดกับตนอง และญาติพี่น้องจะหมดหายไปชีวิตจะยืนยาวยิ่งขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานพร้อมที่จะสู้กับชะตาชีวิตต่อไป
พิธีสืบชะตานี้แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. สืบชะตาคน นิยมทำเมื่อขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ ได้รับยศหรือตำแหน่งสูงขึ้น
วันเกิดที่ครบรอบเช่น ๒๔ ปี ๓๖ ปี ๔๘ ปี ๖๐ ปี ๗๒ ปี เป็นต้น หรือฟื้นจากป่วยหนัก หรือมีผู้ทักทายว่าชะตาไม่ดีจำเป็นต้องสะเดาะเคราะห์และสืบชะตา เป็นต้น
๒. สืบชะตาบ้าน นิยมทำเมื่อคนในหมู่บ้าน ประสบความเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ได้ป่วยกันทั่วไปในหมู่บ้าน หรือตายติดต่อกันเกิด ๓ คน ขึ้นไป ถือเป็นเสนียดของหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านอาจพร้อมใจกันจัดในวันปากปี ปากเดือน หรือปากวัน คือวันที่หนึ่ง สอง หรือสามวันหลังวันเถลิงศก เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
๓. สืบชะตาเมือง จัดขึ้นเมื่อบ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนจากอิทธิพลของดาวพระเคราะห์ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เพราะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะการจลาจลการศึก
หรือเกิดโรคภัยแก่ประชาชนในเมืองเจ้านาท้าวพระยาบ้านเมืองจึงจัดพิธีสืบชะตาเมือง เพื่อให้อายุของเมืองได้ดำเนินต่อเนื่องสืบไป
โดย สุภาภรณ์ เรือนหล้า นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น