นิ้วล็อก หมายถึง อาการที่งอข้อนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้ เหมือนถูกล็อกเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปที่ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องบ่อย ๆ โรคนี้ ไม่มีอันตรายใด ๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวดและใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้
สาเหตุ เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณโคนนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้น จะเกิดปุ่มตรงเส้นเอ็น เวลางอนิ้วมือปุ่มจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แต่ไม่สามารถเคลื่อนเข้าปลอกหุ้มเวลาเหยียดนิ้วมือกลับไป ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกอยู่ในท่างอ ต้องออกแรงช่วยในการเหยียดจึงจะสามารถฝืน ให้ปุ่มเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเข้าไปได้ การอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือ มักเกิดจากแรงกด หรือเสียดสีของเส้นเอ็นซ้ำซาก หรือใช้งานฝ่ามือมากเกินไป
อาการ ระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือไม่ถนัดโดยเฉพาะตอนเข้าหลังตื่นนอน พอใช้มือไปสักพักหนึ่งก็จะกำมือได้ดีขึ้น บางคนจะสังเกตว่าเวลางอแล้วเหยียดนิ้วมือจะได้ยินเสียงดังกิ๊ก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อก คือ เวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน นิ้วที่เป็นบ่อยได้แก่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลาง และนิ้วนาง อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือพร้อมกันหลายนิ้ว และอาจเป็นที่มือข้างเดียว หรือทั้ง ๒ ข้างก็ได้ อาการมักจะเป็นมากตอนเช้า
การดูแลตนเอง หากมีอาการเจ็บตรงโคนนิ้วมือ เวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดนิ้วมีเสียงดังกิ๊ก หรือเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด และควรปฏิบัติดังนี้ ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่เป็นนิ้วล็อกเล่น อาจทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้นได้ ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่นจัด ๆ และบริหารโดยการขยับมือ กำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น เมื่อต้องกำ หรือจับสิ่งของแน่น ๆ เช่น ไม้กอล์ฟ ตะหลิวผัดกับข้าว ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำพันรอบ ๆ หรือใช้ถุงมือจับ จะช่วยลดแรงกดหรือเสียดสีลง
โดย ลัดดา คิดอ่าน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น