ผักเหลียง เป็นพืชยืนต้นที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๒ เมตร มีใบเรียวยาว สามารถนำยอดของผักเหลียงมารับประทานได้ โดยนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดผักเหลียงใส่ไข่ แกงเลียงผักเหลียงใส่กุ้ง หรือ นำมาต้มกะทิ ใช้รองห่อหมก ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานมากของชาวภาคใต้ผักเหลียงจัดเป็นผักพื้นบ้านประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีมากแถบจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะจังหวัดระนอง เขาถือเป็นผักประจำถิ่นเลย ถึงขนาดพูดกันว่า ถ้ามาระนองแล้วไม่ได้กินผักเหลียงแสดงว่ายังมาไม่ถึง ว่ากันว่าถ้าจะกินผักเหลียงที่มีรสหวานอร่อยแล้วละก็ ต้องเป็นผักเหลียงที่ขึ้นในร่ม หรือไม่ก็ต้องหลังฤดูฝนไปแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ผักเหลียงเริ่มแตกใบใหม่ แหล่งดั้งเดิมของผักเหลียงขึ้นอยู่ตามป่าเขา ที่ราบ บางครั้งก็เห็นขึ้นเคียงข้างกับต้นสะตอและต้นยางด้วยรสชาติที่ออกจืดๆ มันๆ ของผัก เหลียง คนใต้จึงนิยมนำมากินสดเป็นผักเหนาะ กับขนมจีน น้ำยาปักษ์ใต้ และนำไปประกอบอาหารต่างๆ ลักษณะของผักเหลียงที่อร่อย คนใต้เขาแนะนำให้เลือกใบที่เป็นเพหลาด คือไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ใบจะออกรสหวานนิดๆ และนอกจากความอร่อยแล้ว ผักเหลียงยังมีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยป้องกันโรคตาฟางในตอนกลางคืน นอกจากนี้ยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส อีกด้วยอาหารยอดนิยมจากผักเหลียงที่ขึ้นชื่อของเมืองใต้คือ "ผักเหลียงต้มกะปิ" หรือที่รู้จักกันดีว่า "แกงเคย" กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงต้มน้ำให้เดือด ใส่กะปิ หอมแดงบุบ น้ำตาลทราย พอเครื่องเดือดทั่วกันก็ใส่ผักเหลียงได้เลย ส่วนใหญ่ใส่กันทั้งใบ ไม่เด็ดก้านใบทิ้ง เพราะก้านทำให้น้ำแกงมีรสหวาน พอใส่ผักเหลียงแล้วยกลงได้เลย เคี่ยวนานไปผักจะสลดหมด แกงหม้อนี้ใช้เกลือปรุงรสแทนน้ำปลา แต่อาจเสริมรสชาติความอร่อย ด้วยการใส่กุ้งแห้งหรือกุ้งใหญ่ลงไปด้วย (กุ้งใหญ่ที่ว่านี้ก็คือกุ้งก้ามกรามนั่นเอง) รสชาติเหมือนแกงเลียง ต่างกันตรงที่เครื่องแกงของแกงเลียงจะนำมาโขลกก่อน แล้วจึงใส่ลงในหม้อแกง แต่แกงผักเหลียงนี้ไม่ต้องนำเครื่องแกงไปโขลกนอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำอาหารจานผัดที่แสนธรรมดา แต่รสชาติไม่ธรรมดาอย่าง "ผักเหลียงผัดไข่" วิธีทำจะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกหัวไชโป๊ผัดไข่ มะละกอสับผัดไข่ เพียงแต่เราเปลี่ยนเป็นใบเหลียงเท่านั้น รับประทานกันข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ แม้แต่ห่อหมกของคนใต้ยังนิยมใช้ใบเหลียงมารองก้นกระทง นอกเหนือไปจากใบโหระพา ผักกาดขาว และใบยออีกด้วย หรือจะนำมาต้มกับกะทิเป็น "ผักเหลียงต้มกะทิ" ก็ได้
โดย นางจิราภรณ์ กาญจนา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ที่มา : สถานีทดลองยางระนอง ตำบลลำเลียงอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
โดย นางจิราภรณ์ กาญจนา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
ที่มา : สถานีทดลองยางระนอง ตำบลลำเลียงอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น