วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

พิธีสืบชะตาคน


พิธีสืบชะตาคนจะจัดทำในโอกาสต่าง ๆ กัน เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ภายหลังจากการเจ็บป่วย หรือทำในโอกาสที่หมอดูทำนายทายทักว่าดวงชะตาไม่ดี บางครั้งทำเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ ภายหลังจากประสบเคราะห์กรรม เมื่อสืบชะตาแล้วเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างดวงชะตาให้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจของผู้ที่ประสบจากเคราะห์กรรมหรือผู้เจ็บป่วย ให้กลับคืนสภาพปกติ สถานที่ประกอบพิธีใช้บริเวณบ้านของผู้ที่จะสืบชะตา โดยจะใช้ห้องโถง ห้องรับแขก ลานบ้าน ก็ได้ สำหรับสิ่งของที่ต้องใช้
๑. ไม้ง่ามขนาดเล็กนำมามัดรวมกัน มีจำนวนมากกว่าอายุผู้สืบชะตา ๑ อัน
๒. ไม้ค้ำศรียาวเท่ากับความสูงของผู้เข้าพิธี ๓ ท่อน
๓. กระบอกข้าว กระบอกทราย กระบอกน้ำ
๔. สะพานลวดเงิน - ทอง เบี้ยแถว (ใช้เปลือกหอยแทน )
๕. หมากแถว มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย หมอน เสื่อ ดอกไม้ธูปเทียนและมีเทียนชัยเล่มยาว ๑ เล่ม
การจัดสถานที่ ใช้ไม้ค้ำศรีทำเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นที่ว่างสำหรับวางสะตวงและสิ่งของเครื่อใช้ในพิธี จัดที่ว่างใกล้ ๆ กระโจมให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าไปรับการสืบชะตา แล้ววนด้านสายสิญจน์ 3 รอบ โยงกับเสากระโจมทั้งสามขา แล้วนำไปพันรอบพระพุทธรูป และพระที่สวดทำพิธี โดยปกติการสืบชะตาคนโดยทั่วไปใช้พระสงฆ์ประกอบพิธี ๙ รูป ส่วนการการสืบชะตาคนพร้อมกับขึ้นบ้านใหม่ใช้พระ ๕ รูปขึ้นไป เพื่อสวดพระปริตร สวดชยันโต ให้ศีลให้พร ฟังเทศน์ สังคหะ และเทศน์สืบชะตา ตัวแทนที่เข้าไปนั่งในสายสิญจน์คือผู้นำครอบครัวหรือผู้ที่อาวุโสสูงสุดในครอบครัว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่
โดย...สุภาภรณ์ เรือนหล้า นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น