วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

ปฐมเหตุ ของประเพณีการทอดกฐินเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล


"""""""สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระภิกษุชาวปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา แต่ไม่สามารถที่จะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถีได้ จึงจำพรรษา ณ.เมืองสาเกต ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้วจึงออกเดินทางต่อเพื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ พระเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี เมื่อฝนยังตกชุกพื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำจึงเป็นหล่มเลน พระภิกษุเหล่านั้นมีจีวรที่เก่าคร่ำคร่าเปียกชื้นด้วยน้ำฝนและเปื้อนโคลน เดินทางไปจนถึงพระนครสาวัตถีด้วยความลำบาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปได้โดยไม่ต้องบอกลา

๒. จาริกไปโดยไม่ต้องเอาผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันอาหารเป็นหมู่คณะได้

๔. เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

๕. จีวรอันเกิดในกฐินกาลเป็นของเธออานิสงส์นี้อยู่ในช่วงเวลา ๑ เดือน โดยนับตั้งแต่วันออกพรรษาแล้วเท่านั้น

""""""""ในปัจจุบันนี้ พิธีทอดกฐินส่วนใหญ่เป็นการหาเงินเข้าวัด โดยมีผ้าไตรสำรับหนึ่งเป็นหลักเพื่อใช้ในพิธีการ ส่วนเงินที่ได้ก็จะนำไปใช้ทะนุบำรุงในกิจการพระพุทธศาสนา เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร ฯลฯ. ซึ่งก็เป็นอานิสงส์เป็นบุญกุศลแก่ผู้มาร่วมงาน แต่พิธีกฐินนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ใช้ในกิจของสงฆ์เท่านั้น จะใช้ในกิจภายนอกพระพุทธศาสนา เช่น กฐินช่วยเด็กยากจน กฐินสร้างโรงเรียน กฐินใช้หนี้ครู กฐินช่วยใช้หนี้ชาวไร่ชาวนา หรือกฐินช่วยชาติไม่ได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ เพราะทายกทายิกามีความประสงค์ที่จะถวาย แก่สงฆ์ผู้ทรงศีลในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

โดย...... สุพัชรีย์ เป็งอินตา นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น