วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การตานก๋วยสลาก

...............การกินสลากหรือสลากภัตต์ หรือการกินข้าวสลาก เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง เมื่อวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ชาวบนต่างจัดเตรียมเครื่องไทยทานทั้งที่จัดใส่ก๋วย เรียกว่า “ก๋วยสลาก”เป็นสลากน้อย และที่จัดแต่งเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เป็นสลากหลวง ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงและทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น ๓ ชั้นหรือ ๕ ชั้น ๗ ชั้น ตามที่เราต้องการสลากหลวง หรือเรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ โดยแต่ละชั้นนำวัตถุเครื่องไทยทานมาผูกติดไว้ให้สวยงามปลายสุดที่เป็นส่วนยอดนิยมนำร่มมาเสียบติดไว้ผูกธนบัตรที่ขอบร่มจำนวนเงินตามแต่ความพอใจของผู้จัดทำ สลากหลวงจะมียอดเงินมากกว่าสลากน้อย เมื่อถึงวันที่กำหนดเอาไว้ ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของก๋วยสลากจะแห่เครื่องไทยทานเข้าวัด และตั้งกัณฑ์สลาก โดยแต่ละกัณฑ์จะมีเส้สลาก เขียนข้อความ อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและมีชื่อเจ้าของกณฑ์ในเส้นสลากด้วย
...............เส้นสลากนั้น แต่ก่อนนิยมเขียนในแผ่นใบตาล ใบลาน แต่ในปัจจุบันนี้ บางครั้งก็ใช้กระดาษแข็งเขียนโดยจะเขียนเท่ากับจำนวนของเครื่องไทยทาน แล้วนำเส้นสลากไปกองรวมกันไว้ในที่กำหนด แต่ส่วนมากจะนำไปวางรวมกันในวิหารหน้าพระประธาน กรรมการจัดจะจัดแบ่งเส้นสลากออกเป็นกอง ๆ ตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่ทางวัดได้นิมนต์มาร่วมพิธี และจัดแบ่งให้แก่พระประธานด้วย ซึ่งสลากของพระประธานนี้จะตกเป็นของวัดที่เป็นเจ้าของงาน หากว่ามี ก๋วยสลากจำนวนมาก พระภิกษุสามเณรก็จะได้เส้น
สลากมาก พระภิกษุจะได้ประมาณ ๒๐ เส้น ส่วนสามเณรอาจจะได้ประมาณ ๑๐ เส้น ส่วนเส้นสลากที่เหลือก็จะนำไปสบทบถวายพระประธาน เมื่อเสร็จจากการแบ่งเส้นสลากแล้ว คณะกรรมการวัดก็จะนำเส้นสลากที่แบ่งแล้วจำนวน ๑ มัด ไปประเคนพระที่อาวุโส ซึ่งเป็นประธานในพิธี ต่อจากนั้นกรรมการวัดจึงนำเส้นสลากไปถวายพระภิกษุสามเณร ตามลำดับ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะแยกย้ายกันไปนั่งตาม จุดที่ทางวัดจัดไว้ให้ เมื่อถึงเวลาอ่านเส้นสลากชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลากก็จะพากันตามหาเส้นสลากของตนที่อยู่ในมือของพระภิกษุสามเณรจนพบ หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรที่ได้เส้นสลากก็จะอ่านเส้นสลากเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะ ถวายกัณฑ์สลากให้ เมือรับพรจากพระเสร็จแล้ว จะรับเส้นสลากของตนไปเผาพร้อมกับอุทิศส่วนบุญกุศลไปหาผู้ตายเป็นอันเสร็จพิธี
...............สำหรับเครื่องไทยทานที่จัดทำขึ้นเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เจ้าของต้องนิมนต์พระภิกษุสามเณร ที่ได้รับเส้นสลากไปยังที่ตั้งของเครื่องไทยทานเพื่อถวาย การทำบุญกินสลาก บางครั้งจัดทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก ช้าง วัว ไก่ สิงห์โต หรือรูปอะไรก็ได้ตามแต่เราจะต้องการ ทำให้มีขนาดที่ใกล้เคียมกับของจริง
จะทำด้วยวัสดุอะไรก็ได้ อาจจะใช้ฟางข้าว ไม้ไผ่ หรือไม้ และตกแต่งให้สวยงาม เพราะมีความเชื่อที่ว่าถ้าหากถวายสัตว์ชนิดใดแล้วชาติหน้าจะได้เป็นเจ้าของสัตว์ชนิดนั้น ๆ
...............การกินข้าวสลากนิยมจัดหลังจากออกพรรษาแล้ว วัดส่วนใหญ่ไม่ได้จัดพิธีนี้ทุกปี เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดทำกัณฑ์สลาก ดังนั้นบางวัดอาจจะจัดทุกปีแต่บางวัดอาจจัดปีเว้นปี หากในปีใดที่ไม่ได้จัดพิธีใหญ่โดยการเชิญชาวบ้านต่างหมู่บ้าน ต่างตำบลมาร่วมด้วย ทางวัดก็จะจัดเฉพาะคนภายในหมู่บ้านของวัดที่ตั้งอยู่ก็ได้
...............ประเพณีการกินข้าวสลาก เป็นประเพณีการทำบุญของชาวบ้านที่แสดงออกถึงความสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านในการถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความสามารถทางด้านศิลปะในการที่จะตกแต่งเครื่องไทยทาน(ต้นกัลปพฤกษ์)ให้สวยงาม นอกจากนี้การกินข้าวสลากยังแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ถ้าหากว่าเศรษฐกิจดีชาวบ้านก็สามารถที่จะจัดทำกัณฑ์สลากเป็นต้นกัลปพฤกษ์จำนวนมาก เนื่องจากการทำกัณฑ์สลากเป็นต้นกัลปพฤกษ์นั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
สำหรับประเพณีการกินข้าวสลากของอำเภองาว จังหวัดลำปางนั้น วัดส่วนใหญ่จะจัดพิธีเป็นประจำทุกปี แต่ก็มีบางวัดที่จัดเฉพาะคนภายในหมู่บ้านเท่านั้น ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าหากทุกคนในท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นเช่นปัจจุบันนี้ ก็จะทำให้ประเพณีอันดีงามเช่นนี้คงสืบทอดไปถึงชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
โดย จิราพร มณฑาทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น