วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเจริญก้าวหน้าแต่ละยุคของอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

ยุคสร้างทางรถไฟ
..........ยุคนี้เป็นยุคที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ไม้สัก เป็นยุคที่คนจีน เข้ามาทำมาหากินตั้งรกรากในตำบลห้างฉัตร กำเนิดโรงสีข้าว มีการสัมปทานไม้สัก มีโรงเลื่อยไม้ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ คนจีนเริ่มเข้ามาค้าขายตั้งรกรากอยู่ในตำบลห้างฉัตร ส่วนบ้านห้างฉัตร (หมู่ที่ ๖) การตั้งถิ่นฐานตั้งอยู่ตามลำน้ำ เป็นเขตรอบนอกตัวอำเภอ ไม่มีคนจีนมาตั้งถิ่นฐาน คนจีนจะมาตั้งถิ่นฐานและซื้อที่ดินทำกินจากเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย เป็นคนมั่งคั่งในชุมชน คาดว่ามีคนจีนตั้งถิ่นฐานตั้งแต่รับกาลที่ ๔ โดยอยู่หน้าตลาดห้างฉัตร นิสัยคนจีนชอบทำมาค้าขาย ส่วนคนพื้นเมืองซึ่งมีฐานะยากจนไม่ชอบค้าขาย แต่ชอบที่จะถางป่าเพื่อทำนาและเสียภาษีให้แก่เจ้าขุนมูลนาย ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะร่ำรวย และมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชน โดยเปาท้าว (ผู้ใหญ่บ้าน) และเป็นพระยาหรือแคว่น (กำนัน) บางหมู่บ้านเรียกว่า “ขุน”
.........การสร้างทางรถไฟ เป็นการเกิดของชุมชนบ้านสถานี สืบเนื่องจากการสร้างทางรถไฟ ครั้งแรกมีชาวบ้านจากหมู่บ้านลำปางกลาง มารับจ้างสร้างทางรถไฟสายลำปาง-เชียงใหม่ประมาณ ๑ กลุ่ม และต่อมาได้มาตั้งรกรากเพิ่มขึ้น ๑๐ หลังคาเรือน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นต้นมา และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านสเตย์หนองหมู” เพราะเรียกตามฝรั่งที่มาคุมงานสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านขายแรงงานสร้างทางรถไฟวันละ ๒๕ สตางค์ ซึ่งถือว่าเป็นค่าแรงที่สูงมากในสมัยนั้น
ยุคทหารญี่ปุ่นเข้าห้างฉัตร
.........ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้กำเนิดระบบการรักษาพยาบาลแผนใหม่ เศรษฐกิจการเงินสะพัด ในช่วงปลายของยุคสงคราม กำเนิด โรงสูบฝิ่นรัฐบาลและขบวนการค้าฝิ่นเถื่อน อันเป็นที่มาและสืบทอดกันมาในการค้าขายยาเสพติดในปัจจุบัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนปลาย ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ ทหารญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทย ชาวบ้านได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สาเหตุเพราะทหารญี่ปุ่นมาทำสงครามและสร้างสนามบินที่หมู่บ้านแม่ยิ่ง ตำบลหนองหล่ม ผลพวงของสงครามทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสนามรบ ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านสเตย์หนองหมูพากันอพยพไปอยู่หลุมหลบภัยในลำห้วยหนองบัว อีกส่วนหนึ่งอพยพหลบภัยที่ห้วยหนองหมู (ปัจจุบันคือ สวนอนันตยศ) พากันทิ้งบ้านเรือน อพยพทำเช่นนี้จนสงครามสงบ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นได้มาอยู่อาศัยบ้านสถานี มาปลูกบ้านพัก ณ ที่แห่งนี้กว่า ๑๐๐ หลังคา ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการค้าขายพืชไร่ และขายแรงงานโดยรับจ้าง เมื่อทหารญี่ปุ่นแพ้สงครามก็ทำอัตวิบากกรรม คือ ฆ่าตัวตาย (ฮาราคิรี) โดยเอามีดคว้านท้องเอาไส้พุงออก เมื่อสงครามสงบชาวบ้านก็กลับถิ่นฐาน

เอกสารอ้างอิง จากหนังสือที่ระลึกห้างฉัตรครบ ๑๐๐ ปี
โดย ดวงสมร ขอบคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น