วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมการกินน้ำพริกของคนเมือง

โดย มันทนา กันสิทธิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
โดยทั่วไปแล้ว อาหารการกินของคนเมืองเฮา จะกินอาหารที่รสอ่อน คือ ไม่เค็ม ไม่เผ็ด ไม่หวาน มาก แต่จะอยู่พอดี แต่ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ยังเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนเมือง หรือคนลาว นั้นก็คือ น้ำพริก ซึ่งในแต่ละฤดูคนเมืองของเฮาจะมีการกินน้ำพริกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ หน้าฝน จะเป็นฤดูที่มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ในนาและหนองน้ำ มีสัตว์ประเภทกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด นานาชนิด เช่น อีฮวก (ลูกอ็อด) คนเมืองของเฮาจะเอามาตำเป็นน้ำพริกอีฮวกกินกับผักสด และข้าวนึ่งฮ้อนๆ จิกุ่ง เป็นแมลงประเภทจิ้งหรีด แต่ตัวใหญ่กว่า คนเมืองถือว่าเป็นอาหารชั้นยอด โดยจะเอาทอด หรือว่าเอามาทำเป็นน้ำพริก กินกับผักสด ก็ได้ ปูนา สามารถนำมาทำเป็นน้ำพริก หรือว่าจะเอามาทำน้ำปู๋ น้ำปู๋ได้มาจากการเอาปูนาตัวเล็กๆนำมาโขลกผสมตะไคร้ ข่า เกลือ ใบมะกอก แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำไปเคี่ยวจนข้น แล้วเหนียว มีสีดำ ใช้แทนกะปิ หรือปลาร้าก็ได้ อาหารที่กินกับน้ำปู๋ ยำหน่อ จะคล้ายกับซุปหน่อไม้ของอิสาน ส้ามะโอคือยำส้มโอ หน้าฝนก็ยังมีเห็ดป่าฝน เช่น เห็ดเหลือง เห็ดแดง เห็ดถอบ(ต้นฝน) เห็ดไข่ห่าน เห็ดขมิ้น หน้าหนาว น้ำพริกในฤดูนี้จะเน้นการเพิ่มไขมันเพื่อสู้กับความหนาว น้ำพริกอ่อง จึงเป็นน้ำพริกประจำหน้าหนาว เพราะเราใช้หมูติดมันมาทำ
หน้าแล้ง หลังเก็บเกี่ยวข้าว ตากแดดให้แห้ง นวดและขนเข้ายุ้งฉางแล้วเตรียมขาย แต่เดิมจะถือว่า เป็นช่วงหมดงานหนักที่เคยตรากตรำมา แต่ก็ใช่ว่าจะนอนตีพุงสบาย ไม่ได้ทำอะไรเลย งานซ่อมแซม บ้านเรือน จอบ เสียบ ไถ คราด และงานอื่นๆยังรออยู่ น้ำพริกในฤดูนี้จะเป็นแบบแห้งที่สามารถเก็บไว้กินได้นาน หรือกินได้ตลอดปี คือ น้ำพริกดำ จะคล้ายกับน้ำพริกตาแดง แต่ส่วนประกอบต่างกัน น้ำพริกดำ บางบ้านเรียกว่าน้ำพริกแห้ง โดยเอาพริกแห้งไปย่างไฟอ่อนๆ หอม กระเทียม เอาไปเผาให้สุก แล้วแกะเปลือก เอาไปตำกับพริกแห้งจนละเอียดแล้วใส่เกลือเข้าไปด้วย จะได้น้ำพริกเก็บไว้กิน การกินน้ำพริกของคนเมืองเฮาแตกต่างกันในแต่ละฤดู ไม่น่าจะเป็นเพียงเรื่องการมีอยู่ กับไม่มีอยู่ของพืช สัตว์ ที่นำมากินในช่วงเวลานั้น ๆ เท่านั้น แต่น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจในผลของการรับประทาน สุดท้ายของการกินที่มีต่อสุขภาพอนามัย ว่าอะไรกินแล้วดี อะไรกินแล้วไม่ดี ในช่วงฤดูกาลหรือโอกาสนั้น ๆ เป็นความรู้ที่มีอยู่จริง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงเท่าที่ควร ดังนั้นภูมิรู้ภูมิธรรมของคนบ่าเก่า ก็ยังมีแนวคิดที่สนับสนุนการกินอย่างถูกวิธีของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย แล้วเราจะไม่นำความรู้เหล่านี้มาบอกเล่าแก่คนอื่นได้อย่างไร ...
ที่มา : คำบอกเล่าของแม่อุ้ยแสน เมืองใจ บ้านป่าซางน้อย ลำพูน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น