วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“คารวะครูด้วยดวงใจ”

“วัฒนธรรม” หมายถึงลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ
เรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประเทศ
จากความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ที่มีความชัดเจนและลึกซึ้งแล้วนั้น พิจารณาดู
จะเห็นถึงคุณลักษณะของการที่คนในชาติจะร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันได้ต้อง เป็นคนที่มีระเบียบวินัย รับผิดชอบตนเองและผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อจะคิดหรือทำสิ่งใดแล้ว เมื่อทำผิด หรือไม่ถูกต้องจะละอายไม่กล้าสู้หน้าและคนในสังคมไม่มีใครต้องการคบค้าสมาคมด้วย หรือให้การต้อนรับ
สังคมเริ่มต้นที่บ้าน พ่อ แม่ เป็นครูคนแรกของลูก เมื่ออยู่ในครอบครัวท่านจะเลี้ยงดู
ให้ความรักความอบอุ่นดูแลเอาใจใส่ และอบรมสั่งสอน ให้การศึกษาเล่าเรียน เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เมื่อลูกจบ
การศึกษามีงานทำ สร้างหลักฐานของตนเอง และแต่งงานมีครอบครัวแยกไปสร้างครอบครัวใหม่ ภาระต่าง ๆ
ของพ่อ แม่ก็สิ้นสุดลง แต่ท่านก็ยังดูแลให้คำปรึกษา หรือรับภาระการเลี้ยงดูบุตรให้เรา นับได้ว่ายังมีความเกี่ยวข้อง และเป็นครอบครัวเดียวกันที่ยังต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนเดิม
เมื่อถึงวัยศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน “ครู” เป็นผู้สอนให้เราซึ่งเป็น “ศิษย์” ให้มี
ความรู้ในหนังสือ หรือวิชาการต่าง ๆสอนให้เป็นคนดีมีระเบียบวินัย การอยู่ร่วมในสังคม เคารพเชื่อฟังพ่อ แม่
หลีกเลี่ยงอบายมุข เช่น สุรา ยาเสพติด และการคบเพื่อนที่ดี เพื่อจะได้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี การศึกษา
ในสมัยก่อนเริ่มที่วัด หลวงพ่อ หรือพระท่านจะสอนอ่านเขียน การสวดมนต์ และสอนในเรื่องศีลธรรมควบคู่
กันไป คนในรุ่นก่อนจึงเป็นคนดีมีศีลธรรมประพฤติตนอยู่ในกรอบที่ดีงามของสังคม ศิษย์จึงดีได้เพราะครูท่านให้ความรู้ และอบรมสั่งสอน ครูจึงเป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของศิษย์ การศึกษาเล่าเรียนในวิชาต่าง ๆได้ดี
ต้องมีการไหว้ครู เพื่อแสดงความเคารพที่ท่านเป็นผู้ให้วิชาความรู้ ในการเรียนวิชาศิลปะนาฏดุริยางคศาสตร์
ซึ่งมีหลายกลุ่มวิชา เช่น วิชาช่างสิบหมู่ วิชานาฏศิลป์ และการละคร ฟ้อนรำ วิชาดุริยางคศาสตร์ ดนตรีสาขาต่าง ๆ และการละเล่นพื้นเมือง จะมีการไหว้ครู ครอบครู เพื่อแสดงความเคารพท่านบรมครูทั้งหลาย ที่ได้อบรมสั่งสอนสรรพวิชา อนุรักษ์วิชาช่างไว้และตกทอดมาถึงเราผู้เป็นศิษย์
นักการศึกษายอมรับว่า “การศึกษาคือ กระบวนการถ่ายทอดและสร้างสรรค์วัฒนธรรมชาติ” “ครู” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชีวิต และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดจนการ
สืบทอดวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และประเทศชาติ มีศาสนา และศีลธรรม จริยธรรม เป็นกรอบสำคัญที่แสดงออกให้เห็นรูปธรรม ครู ต้องรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ครูไม่ได้เป็นเรือจ้างที่ต้องส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งเท่านั้น แต่ท่านเป็นผู้ให้ทุกอย่าง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และในโอกาสที่ วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น
“วันครู” เราผู้เป็นศิษย์ขอคารวะครู ด้วยท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างชี้แนวทางในชีวิต อุทิศตนเพื่อศิษย์ทุกคน

โดย นางน้ำทิพย์ มณฑาทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำอำเภอเมืองปาน
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
แหล่งข้อมูล นิคม มุสิกะคามะ. วัฒนธรรม:บทบาทใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น