วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ภาษาไทย ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่มีอรรถรส

ภาษาไทย ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่มีอรรถรส ไพเราะ มีเสียงสูง - ต่ำ และมีการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้แก่เยาวชนเพื่อเป็นการสืบสานวรรณกรรมด้านภาษาถิ่นไว้ นอกจากนั้นได้เปรียบเทียบ ภาษาถิ่น ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้หมวดหมู่
ตารางเปรียบเทียบการอ่านภาษาถิ่น ตัวเมือง และภาษาไทยกลาง

ภาษาถิ่น ภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษ
อีป้อ คุณพ่อ farther
อีแม่ คุณแม่ marther
เตียว เดิน walk
กิ๋น รับประทาน eat
ซ่วยมือ ล้างมือ -
ผ่อ ดู look
เกิบ รองเท้า choe

รวบรวมโดย นางเครือวัลย์ ธรรมมายอดดี
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระเจ้าทองทิพย์

โดย สุนันทา เจียมเงิน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
พระเจ้าทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านต๋อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชนิดสำริด ชาวบ้านต๋อและชาวบ้านใกล้เคียงรู้จักและเคารพนับถือ เพราะพระเจ้าทองทิพย์มีอภินิหารและศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือกันในหมู่ชาวบ้านใกล้เคียงจนเป็นที่รู้จักทั่วไป อีกทั้งพระทองทิพย์นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน มีขนาดหน้าตักกว้าง ๘๑ ซม. มีขนาดความสูง ๑๓๓ ซม. มีความสง่างามและทั้งองค์พระมีความสมบูรณ์ทั้งสิ้น
ประวัติความเป็นมาของพระเจ้าทองทิพย์นั้น เริ่มประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถ์ของชาวบ้านต๋อตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดยืนยันได้ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวบ้านต๋อเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ท่านเกิดมาก็เห็นและได้ให้ข้อมูลและท่านได้เล่าให้ฟังว่า พระเจ้าทองทิพย์มาประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถ์วัดบ้านต๋อนั้น ท่านเล่าว่าพระเจ้าทองทิพย์นั้นนำมาพร้อมกับชาวบ้าน ชาวเมืองที่หลบหนีทหารพม่าเข้ามาและได้นำเอาพระเจ้าทองทิพย์มาด้วย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นพระพทุธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชาและนับถือเข้ามาด้วย และได้นำมาไว้ที่ป่ารกทึบ ติดกับแม่น้ำจางฝั่งติดด้านถนนใหญ่ ซึ่งบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น (ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยคือต้นไม้ใหญ่ให้เห็นอยู่) ซึ่งชาวบ้านคิดว่าที่บริเวณนี้ปลอดภัยจาการติดตามของทหาร ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ปรากฏว่าทหารพม่าไม่มาราวีอีกเลย จึงได้รวมตัวปรึกษาหารือกันว่าจะอาศัยที่บริเวณนี้อยู่และสร้างบ้านเมืองตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่บริเวณทั้งสองของฝั่งแม่น้ำจาง และไดอันเชิญพระพุทธรูปทองทิพย์มาประดิษฐานด้วย เพื่อกราบไหว้เป็นการถาวรสืบตาม ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโบสถ์ขึ้นมาสำหรับเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทองทิพย์ และต่อมาได้ยกบริเวณแห่งนี้ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดบ้านต๋อในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เจ้าอาวาสวัดบ้านต๋อ เพื่อความปลอดภัยในการโจรกรรมของพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย เพราะโบสถ์แห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เลย เกรงจะเป็นอันตรายแก่องค์พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีอภินิหารเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านต๋อและชาวบ้านใกล้เคียง ซึ่งมีชื่อเสียงให้คนทั่วไปได้รู้จัก และต่อมาวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางกรมศิลปากรได้ทำการจดทะเบียนพระเจ้าทองทิพย์ให้เป็นโบราณวัตถุ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ เล่มที่ ๑๑๐ ตอน ๑๙๔) เพื่อเป็นสมบัติของชาติต่อไป

--------------

ผู้ให้ข้อมูล นายศรีทูล ใจวัน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเลขที่ ๒๒ หมู่ที่ ๔ ตำบลน้ำโจ้
อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

วัฒนธรรมการกินน้ำพริกของคนเมือง

โดย มันทนา กันสิทธิ์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
โดยทั่วไปแล้ว อาหารการกินของคนเมืองเฮา จะกินอาหารที่รสอ่อน คือ ไม่เค็ม ไม่เผ็ด ไม่หวาน มาก แต่จะอยู่พอดี แต่ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ยังเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนเมือง หรือคนลาว นั้นก็คือ น้ำพริก ซึ่งในแต่ละฤดูคนเมืองของเฮาจะมีการกินน้ำพริกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ หน้าฝน จะเป็นฤดูที่มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ในนาและหนองน้ำ มีสัตว์ประเภทกุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด นานาชนิด เช่น อีฮวก (ลูกอ็อด) คนเมืองของเฮาจะเอามาตำเป็นน้ำพริกอีฮวกกินกับผักสด และข้าวนึ่งฮ้อนๆ จิกุ่ง เป็นแมลงประเภทจิ้งหรีด แต่ตัวใหญ่กว่า คนเมืองถือว่าเป็นอาหารชั้นยอด โดยจะเอาทอด หรือว่าเอามาทำเป็นน้ำพริก กินกับผักสด ก็ได้ ปูนา สามารถนำมาทำเป็นน้ำพริก หรือว่าจะเอามาทำน้ำปู๋ น้ำปู๋ได้มาจากการเอาปูนาตัวเล็กๆนำมาโขลกผสมตะไคร้ ข่า เกลือ ใบมะกอก แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำไปเคี่ยวจนข้น แล้วเหนียว มีสีดำ ใช้แทนกะปิ หรือปลาร้าก็ได้ อาหารที่กินกับน้ำปู๋ ยำหน่อ จะคล้ายกับซุปหน่อไม้ของอิสาน ส้ามะโอคือยำส้มโอ หน้าฝนก็ยังมีเห็ดป่าฝน เช่น เห็ดเหลือง เห็ดแดง เห็ดถอบ(ต้นฝน) เห็ดไข่ห่าน เห็ดขมิ้น หน้าหนาว น้ำพริกในฤดูนี้จะเน้นการเพิ่มไขมันเพื่อสู้กับความหนาว น้ำพริกอ่อง จึงเป็นน้ำพริกประจำหน้าหนาว เพราะเราใช้หมูติดมันมาทำ
หน้าแล้ง หลังเก็บเกี่ยวข้าว ตากแดดให้แห้ง นวดและขนเข้ายุ้งฉางแล้วเตรียมขาย แต่เดิมจะถือว่า เป็นช่วงหมดงานหนักที่เคยตรากตรำมา แต่ก็ใช่ว่าจะนอนตีพุงสบาย ไม่ได้ทำอะไรเลย งานซ่อมแซม บ้านเรือน จอบ เสียบ ไถ คราด และงานอื่นๆยังรออยู่ น้ำพริกในฤดูนี้จะเป็นแบบแห้งที่สามารถเก็บไว้กินได้นาน หรือกินได้ตลอดปี คือ น้ำพริกดำ จะคล้ายกับน้ำพริกตาแดง แต่ส่วนประกอบต่างกัน น้ำพริกดำ บางบ้านเรียกว่าน้ำพริกแห้ง โดยเอาพริกแห้งไปย่างไฟอ่อนๆ หอม กระเทียม เอาไปเผาให้สุก แล้วแกะเปลือก เอาไปตำกับพริกแห้งจนละเอียดแล้วใส่เกลือเข้าไปด้วย จะได้น้ำพริกเก็บไว้กิน การกินน้ำพริกของคนเมืองเฮาแตกต่างกันในแต่ละฤดู ไม่น่าจะเป็นเพียงเรื่องการมีอยู่ กับไม่มีอยู่ของพืช สัตว์ ที่นำมากินในช่วงเวลานั้น ๆ เท่านั้น แต่น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจในผลของการรับประทาน สุดท้ายของการกินที่มีต่อสุขภาพอนามัย ว่าอะไรกินแล้วดี อะไรกินแล้วไม่ดี ในช่วงฤดูกาลหรือโอกาสนั้น ๆ เป็นความรู้ที่มีอยู่จริง ซึ่งปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงเท่าที่ควร ดังนั้นภูมิรู้ภูมิธรรมของคนบ่าเก่า ก็ยังมีแนวคิดที่สนับสนุนการกินอย่างถูกวิธีของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย แล้วเราจะไม่นำความรู้เหล่านี้มาบอกเล่าแก่คนอื่นได้อย่างไร ...
ที่มา : คำบอกเล่าของแม่อุ้ยแสน เมืองใจ บ้านป่าซางน้อย ลำพูน

“คารวะครูด้วยดวงใจ”

“วัฒนธรรม” หมายถึงลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ
เรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประเทศ
จากความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ที่มีความชัดเจนและลึกซึ้งแล้วนั้น พิจารณาดู
จะเห็นถึงคุณลักษณะของการที่คนในชาติจะร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันได้ต้อง เป็นคนที่มีระเบียบวินัย รับผิดชอบตนเองและผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อจะคิดหรือทำสิ่งใดแล้ว เมื่อทำผิด หรือไม่ถูกต้องจะละอายไม่กล้าสู้หน้าและคนในสังคมไม่มีใครต้องการคบค้าสมาคมด้วย หรือให้การต้อนรับ
สังคมเริ่มต้นที่บ้าน พ่อ แม่ เป็นครูคนแรกของลูก เมื่ออยู่ในครอบครัวท่านจะเลี้ยงดู
ให้ความรักความอบอุ่นดูแลเอาใจใส่ และอบรมสั่งสอน ให้การศึกษาเล่าเรียน เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก เมื่อลูกจบ
การศึกษามีงานทำ สร้างหลักฐานของตนเอง และแต่งงานมีครอบครัวแยกไปสร้างครอบครัวใหม่ ภาระต่าง ๆ
ของพ่อ แม่ก็สิ้นสุดลง แต่ท่านก็ยังดูแลให้คำปรึกษา หรือรับภาระการเลี้ยงดูบุตรให้เรา นับได้ว่ายังมีความเกี่ยวข้อง และเป็นครอบครัวเดียวกันที่ยังต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนเดิม
เมื่อถึงวัยศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน “ครู” เป็นผู้สอนให้เราซึ่งเป็น “ศิษย์” ให้มี
ความรู้ในหนังสือ หรือวิชาการต่าง ๆสอนให้เป็นคนดีมีระเบียบวินัย การอยู่ร่วมในสังคม เคารพเชื่อฟังพ่อ แม่
หลีกเลี่ยงอบายมุข เช่น สุรา ยาเสพติด และการคบเพื่อนที่ดี เพื่อจะได้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี การศึกษา
ในสมัยก่อนเริ่มที่วัด หลวงพ่อ หรือพระท่านจะสอนอ่านเขียน การสวดมนต์ และสอนในเรื่องศีลธรรมควบคู่
กันไป คนในรุ่นก่อนจึงเป็นคนดีมีศีลธรรมประพฤติตนอยู่ในกรอบที่ดีงามของสังคม ศิษย์จึงดีได้เพราะครูท่านให้ความรู้ และอบรมสั่งสอน ครูจึงเป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของศิษย์ การศึกษาเล่าเรียนในวิชาต่าง ๆได้ดี
ต้องมีการไหว้ครู เพื่อแสดงความเคารพที่ท่านเป็นผู้ให้วิชาความรู้ ในการเรียนวิชาศิลปะนาฏดุริยางคศาสตร์
ซึ่งมีหลายกลุ่มวิชา เช่น วิชาช่างสิบหมู่ วิชานาฏศิลป์ และการละคร ฟ้อนรำ วิชาดุริยางคศาสตร์ ดนตรีสาขาต่าง ๆ และการละเล่นพื้นเมือง จะมีการไหว้ครู ครอบครู เพื่อแสดงความเคารพท่านบรมครูทั้งหลาย ที่ได้อบรมสั่งสอนสรรพวิชา อนุรักษ์วิชาช่างไว้และตกทอดมาถึงเราผู้เป็นศิษย์
นักการศึกษายอมรับว่า “การศึกษาคือ กระบวนการถ่ายทอดและสร้างสรรค์วัฒนธรรมชาติ” “ครู” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชีวิต และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดจนการ
สืบทอดวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และประเทศชาติ มีศาสนา และศีลธรรม จริยธรรม เป็นกรอบสำคัญที่แสดงออกให้เห็นรูปธรรม ครู ต้องรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ครูไม่ได้เป็นเรือจ้างที่ต้องส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งเท่านั้น แต่ท่านเป็นผู้ให้ทุกอย่าง โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และในโอกาสที่ วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น
“วันครู” เราผู้เป็นศิษย์ขอคารวะครู ด้วยท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างชี้แนวทางในชีวิต อุทิศตนเพื่อศิษย์ทุกคน

โดย นางน้ำทิพย์ มณฑาทอง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ปฏิบัติงานประจำอำเภอเมืองปาน
สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
แหล่งข้อมูล นิคม มุสิกะคามะ. วัฒนธรรม:บทบาทใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ:
กรมศิลปากร, ๒๕๔๕.

อร่อยๆกับอาหารแมลง



สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ครั้งนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องอาหารที่ทำมาจากแมลงตามฤดูกาลกันนะครับ ถ้าท่านได้เดินตลาดช่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ จะเห็นมีการขายสิ่งหนึ่ง วางเป็นกองเป็นเม็ดสีน้ำตาลเล็กๆและเม็ดขาวๆใหญ่ๆวางอยู่บน ถ้าสังเกตดีๆจะคล้ายตัวอ่อนของแมลง ใช่ครับมันเป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่งครับ ทางภาคเหนือเรียก เม็ดสีน้ำตาลเล็กๆ “ไข่แมงมัน” ส่วนเม็ดขาวๆใหญ่ๆที่เป็นตัวอ่อน เรียกว่า “เต้งแมงมัน” ซึ่งช่วงเข้าเหนือกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงเริ่มการขุดหาไข่และเต้ง กันครับ การขุดหาแบบใดไม่ขอคุย มาพูดถึงอาหารที่ทำได้ ดีกว่า อาหารที่ผมเห็นๆนิยมกันมากที่สุด ก็คือ “แมงมันจ่อม”
วิธีทำ นำไข่แมงมัน ดองไว้ 1-2 คืนก่อน เพื่อให้ไข่แมงมันมีรสเปรี้ยว น้ำที่จะดองเป็นน้ำต้มให้สุกหรือน้ำแช่ข้าวเหนียว (น้ำข้าวมวก) เกลือ พอดองได้ที่ ก็จะเป็นการปรุง โดยการนำไข่แมงมันดองมาโรยด้วยพริกแห้งปิ้ง โขลกหยาบๆ โรยหน้า พร้อมกับต้นหอมผักชีรับประทานกับสะเดาที่ลวกแล้ว นับเป็นอาหารพิเศษที่หารับประทานได้ไม่ง่าย และอร่อยสุดๆครับ

อาหารจานต่อไปที่ จะแนะนำ คือ “แกงผักกาดใส่เต้งแมงมัน” วิธีทำ ก็ง่ายๆเช่นกัน
วิธีทำ ต้มน้ำให้เดือด เอาปลาร้าใส่กรองก้างด้วยกระชอน ผักกาดจอเด็ดเป็นท่อน ๆ และต้นหอมผักชีไว้โรยหน้าตักน้ำต้มปลาร้ามาละลายพริกแกงในครกนิดหน่อย ตักพริกแกงใส่หม้อ คนให้ละลาย รอจนเดือด ขย้ำผักกาดให้ทั่ว ๆ ใส่ผักกาดลงไป คนผักกาดให้ยุบตัว พอสุกแล้วใส่ไข่แมงมัน คนให้ทั่ว ตั้งไฟต่ออีก 2-3 นาที เท่านี้ก็ได้อาหารอร่อยๆบ้านๆอีกหนึ่งชาม ลองทำดูนะครับ
หลังจากทำอาหารแล้วท่านพูดอาหารยังสงสัยว่าแล้ว ไข่และเต้งแมงมัน นี้จะมีคุณค่าทางอาหารอะไรบาง ผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่าจุดเด่นของอาหารแมลงอยู่ที่ปริมาณสารอาหารกลุ่มพลังงาน โปรตีน และไขมัน สำหรับเกลือแร่ที่มีอยู่จำนวนมาก ได้แก่ ธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ส่วนวิตามินที่พบในแมลงได้แก่ วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก (สถาบันวิจัยโภชนาการ พ.ศ. 2548) ไข่แมงมันจะมี ฟอสฟอรัสต่ำกว่า 100 มก. ต่อน้ำหนัก 100 กรัม
ความเชื่อของคนทางเหนือมีความเชื่อว่า การบริโภคแมงมันจะทำให้มีพละกำลังและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
สำหรับอร่อยๆกับอาหารแมลง ต่อนี้คงจบแค่นี้นะครับ ครั้งนห้าผมจะนำเสอนอาหารอะไรอีกก็โปรดติดตามกันต่อไปนะครับ
สวัสดีครับ
เขียนโดย นายชิตพร พูลประสิทธิ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง