วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อร่อยๆกับอาหารล้านนา ๖

มาถึงเดือนมิถุนายนเข้าฝนเต็มตัวมีฝนตกทุกเย็นนาข้าวน้ำนองชาวนาเริ่มหว่านข้าวทำกล้าช่วงนี้ทำให้นึกถึงสมัยเด็ก ผมเคยตามตาไปนาที่เริ่มปลักกล้ากัน พวกเด็กที่ว่างๆไม่ช่วยงานอย่างผมและพี่ๆน้องก็มีหน้าที่อีกอย่างคือจับปูนากัน ตอนแรกผมก็คิดว่าเอาปูนามาทำอะไรแยะๆ เอามาทำปูเค็มตำส้มตำหรือเปล่า แต่พากลับมาบ้านพวกเราก็นำปูมาขังไว้ไม่เป็นทำอะไรตั้ง ๒-๓ วัน ผมสงสัยก็เลยถามตาว่าขังเอาไว้ทำไม ตาบอกว่าขังไว้ให้มันคายดินโคลนออกจะได้สะอาด ผมก็ถามต่อว่าแล้วจะเอาปูไปทำอะไร ตาบอกว่าเอาไปทำน้ำปู๋ ผมก็นึกถึงกระปุกฝาแดงที่ของสีดำๆอยู่ข้างในคล้ายๆกะปิ เห็นยายชอบใส่ในส้มตำ แล้วส้มตำทำให้ส้มตำทางเหนือออกดำๆ

ผมว่าเรามารู้จักน้ำปู๋และวิธีทำน้ำปู๋กัน โดยมีผู้ให้ความหมายว่า น้ำปู อ่านว่า น้ำปู๋ เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวล้านนา ใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารบางอย่าง เช่นเดียวกับกะปิ โดยมากจะทำน้ำปูในช่วงฤดูฝน หรือฤดูทำนา ชาวล้านนา นิยมนำน้ำปูมาตำน้ำพริก เรียกว่า น้ำพริกน้ำปู ใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ ตำส้มโอ ตำกระท้อน (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, 3247)

ส่วนผสม

๑. ปูนา๓-๔กิโลกรัม
๒. ใบฝรั่ง ใบตะไคร้ หรือใบข่า๑/๒ถ้วย
๓. เกลือเมล็ด ๑ ๑/๒ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

๑.นำปูมาทำความสะอาด แล้วตำในครกที่เรียกว่าครกมอง หรือครกกระเดื่อง
๒.ใส่ใบฝรั่ง ใบตะไคร้ หรือใบข่าตำผสมให้ละเอียด
๓.นำมากรองด้วยผ้าขาวลงในหม้อดิน
๔.หลังจากที่กรองเสร็จนำกากปูที่ได้มาตำซ้ำอีก 2 ถึง 3 ครั้ง แล้วกรองลงในหม้อดินอีก
๕.หลังจากนั้นจะได้น้ำปูดิบ นำไปตั้งไฟเคี่ยวจนน้ำปูเกือบแห้ง แล้วก็จะเติมเกลือ
๖.ทิ้งไว้จนเย็นน้ำปูแห้งจะจับกันเป็นก้อนสีดำ ชาวบ้านจะนำมาใส่ ออม หรือกระปุก

เท่านี้ก็จะได้น้ำปู๋ที่ต้องการเพื่อเป็นการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินเป็นเวลาเเรมปี โดยในน้ำปู๋นั้นให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร

เคล็ดไม่ลับ
- การเคี่ยวนั้นจะใช้ไฟเเรงก่อนเเละค่อยๆ ลดไฟลง คนทำต้องหมั่นคนอยู่เสมอมิฉะนั้นจะทำให้น้ำปูล้นหม้
- ต้องใช้ปูเป็น ในการทำน้ำปู

- บางสูตรใช้ใบขมิ้นซอย

อ้างอิง

นางนิตยา บุญทิม นักวิจัย ชำนาญการ ระดับ 8 หน่วยวิจัยจุลชีววิทยาประยุกต์ สถาบันวิจัยเเละพัฒนาวิทยาศาสตร์ เเละเทคโนโลยี

รัตนา พรหมพิชัย. น้ำปู. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 6, หน้า 3247). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ชิตพร พูลประสิทธิ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น