วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มหาบุรุษผู้กอบกู้เมืองเขลางค์


พระยาสุลวะฤาไชยสงคราม เป็นชาวลำปางแต่กำเนิด เกิดที่บ้านปงยางคก แขวงหางสัด (ปัจจุบันคืออำเภอห้างฉัตร) มีอาชีพเป็นพรานป่า มีความสามารถในวิชาคชกรรมเรียกกันว่าหมอโพนเพราะเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ไม่กลัวช้างป่า ได้ช่วยเหลือ ชาวบ้านไล่ช้างที่มาเหยียบข้าวในนาอยู่เป็นประจำ จนได้รับสมญาว่า “ทิพย์ช้าง” เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดปงยางคก ผลงานของท่านก็คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๗๒ ถึง ๒๒๗๕ ทางล้านนาไทยเกิดการจลาจลมีการแย่งชิงอำนาจกัน ล้านนาไทยต้องตก อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี ไม่มีใครสามารถกอบกู้บ้านเมืองคืนมาได้ พม่าได้เข้ามาตั้งกองบัญชาการ อยู่ที่เมืองลำพูน มีท้าวมหายศเป็นผู้บัญชาการ นครลำปางในขณะนั้นได้มีบรรดาพระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ ในการสู้รบได้รวมตัวกัน และลาสิกขาบทออกมาช่วยกันต่อสู้กับพม่า แต่สู้ไม่ได้จึงถอยและหนีเข้าไปอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีกำแพงมั่นคงแข็งแรง ภายหลังทัพพม่าของท้าวมหายศได้ตามมาและยิงต่อสู้จนได้ชัยชนะ และเข้าไปคุมทัพตั้งมั่น อยู่ในวัด พระธาตุลำปางหลวง
ต่อมาได้มีพระมหาเถระแห่งวัดพระแก้วชมพู ได้ติดต่อกับหนานทิพย์ช้าง เนื่องจากได้ยินกิติศัพท์ว่าเป็นผู้ มีความสามารถ ความกล้าหาญ เฉลียวฉลาด ให้มาช่วยกันกู้บ้านเมือง หนานทิพย์ช้างได้เล็ดลอดเข้าไปในวัดพระธาตุลำปางหลวง และใช้ปืนใหญ่คาบศิลา ยิงท้าวมหายศตายพร้อมกับขับไล่กองทหารพม่าออกจากนครลำปางได้ หนานทิพย์ช้างจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นพระยาสุลวะฤาไชยสงคราม ครองเมืองลำปาง
พระยาสุลวะฤาไชยสงคราม ครองเมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๙ และมีโอรส คือ เจ้าฟ้าชายแก้วได้ครองเมืองลำปางและมีโอรส สืบต่อมาอีก ๗ องค์ ซึ่งถือว่าเป็นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน เป็นต้นตระกูลที่ปกครองล้านนาไทยในสมัยเป็นประเทศราชของกรุงเทพ เจ้าทั้งเจ็ดตนซึ่งเป็นโอรสของเจ้าฟ้าชายแก้วและเป็นหลานของพระยาสุลวะฤาไชยสงคราม ได้แก่ เจ้ากาวิละ เจ้าคำโสม เจ้าน้อยคำ เจ้าดวงทิพย์ เจ้าหมูหล้า เจ้าคำฝั้น และ เจ้าบุญมา ซึ่งเจ้าทั้งเจ็ดนี้ต่อมาได้ครองเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สืบวงศ์ตระกูล เป็นต้นตระกูลของ ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน และเชื้อเจ็ดตน อันเป็นตระกูล ที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของล้านนา ที่ร่วมสมัยกับประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร และปรับเปลี่ยนการปกครองเป็น มณฑลต่าง ๆ และเป็นจังหวัด เช่น ในปัจจุบันนี้ จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร เหลือไว้แต่ความทรงจำ ทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าเท่านั้น
แหล่งข้อมูล : http://www.phawatsat.ob.tc/history๑๙.html

โดย อรัญญา ฟูคำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น